คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1309/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เบี้ยประชุมถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างอันจะนำมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชย
โจทก์มิได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิของโจทก์โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจท์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินสงเคราะห์ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน และยังมิได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินสงเคราะห์ส่วนที่ขาด กับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินสงเคราะห์แก่โจทก์โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะโจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดเอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าเงินจำนวน 4,050 บาทเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ที่ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเขานุการคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเลขานุการคณะกรรมการบริหาร เงินดังกล่าวจึงถือว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน 24,300 บาทที่ยังขาดให้แก่โจทก์อีกนั้นพิเคราะห์แล้วได้ความว่า เงินจำนวน 4,050 บาทที่โจทก์ได้รับจากจำเลยนี้เป็นเบี้ยประชุมที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและเลขานุการคณะกรรมการบริหารอันเป็นหน้าที่พิเศษนอกเหนือจากหน้าที่ประจำของโจทก์ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักผู้ตรวจการซึ่งมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว หากเดือนไหนไม่มีการประชุมหรือโจทก์ไม่ได้เข้าประชุม จำเลยก็จะไม่จ่ายให้ เห็นว่าเงินดังกล่าวมิใช่เงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 2 อันจะต้องนำมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกตามฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองว่า เงินจำนวน 4,050 บาทที่โจทก์ได้รับจากจำเลยเป็นรายเดือนนี้ ถือว่าเป็นค่าจ้างหรือเงินเดือนของโจทก์ซึ่งตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ผู้ปฎิบัติงานในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงานของโจทก์ จึงต้องนำเงินจำนวน 4,050 บาทมาคิดคำนวณเงินสงเคราะห์ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสงเคราะห์จำนวน 121,500 บาทที่ยังขาดแก่โจทก์อีกนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้สืบเนื่องมาจากอุทธรณ์ข้อแรก เมื่องเนจำนวน 4,050 บาทถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างหรือเงินเดือนดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในข้อแรดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำมาเป็นฐานเพื่อคำนวณเงินสงเคราะห์ตามที่โจทก์เรียกร้องได้อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครดงแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 45 เพราะตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์ไม่เคยหยุดพักผ่อนประจำปีเลย โดยที่ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าด้วยการลาของพนักงาน พ.ศ. 2522 โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมเป็นเวลา 14 ปี คิดเป็นเงิน 100,676บาทให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการลาของพนักงาน พ.ศ. 2522 ข้อ 21 กำหนดว่า พนักงานมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้ 10 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา ข้อ 23กำหนดว่าถ้าในปีใดพนักงานผู้ใดมิได้ลาพักผ่อนประจำปี หรือลาพักผ่อนประจำปีแล้วแต่ไม่ครบ 10 วัน ให้สะสมวันลาที่ยังมิได้ลาในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อไปได้ แต่วันลาพักผ่อนสะสมกับวันลาพักผ่อนในปีปัจจุบันต้องไม่เกิน 20 วัน ศาลฎีกาเห็นว่า จากระเบียบของจำเลยดังกล่าวโจทก์ย่อมมีสิทธิสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีก่อนรวมกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ครบเกษียณอายุได้เพียง 20วันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของแต่ละปีให้แก่โจทก์ตามข้อ 10 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และโจทก์ก็มิได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 2527 และปี 2528 ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2528ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุในวันที่ 1ตุลาคม 2528 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน20 วันของปีดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารของจำเลยว่า ในปีงบประมาณ 2527 โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 27,560 บาทเฉลี่ยวันละ 918.67 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วันเป็นเงิน 9,186.70 บาท ปีงบประมาณ 2528 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์เกษียณอายุ โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 29,260 บาท เฉลี่ยวันละ 935.33 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วันเป็นเงิน 9,753.30 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,940 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเพียงบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 18,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง”.

Share