คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089-13090/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกัน โดยคงเรียกโจทก์และจำเลยทั้งสามทั้งสองสำนวนว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ฟ้องสำนวนหลังขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาหุ้นที่ยังไม่ได้คืน 24,095,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 กับ 1,500,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และนับโทษจำเลยที่ 3 ทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานายสมใจนึกหรือสมนึก และนายจีราวัฒน์หรือทวีวัฒน์ ผู้เสียหายทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกผู้เสียหายทั้งสองว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมสองกระทง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทงละ 6,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 12,000 บาท จำเลยที่ 2 จำนวน 12,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุกกระทงแรก 3 ปี กระทงที่สอง 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหุ้นหรือใช้ราคาหุ้นเป็นเงิน 24,095,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และ 1,500,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาหุ้นแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า เมื่อปี 2531 นายอัณณพ กับพวกตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 มีนายอัณณพ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นน้องของนายอัณณพ นายสุรินทร์ และนายจีราวัฒน์หรือทวีวัฒน์ โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น วันที่ 7 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 1 โดยนายอัณณพและนายสุรินทร์กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 50,000,000 บาท มีหุ้น 500,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท และจดทะเบียนเพิ่มให้นายสมใจนึกหรือสมนึก โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นกรรมการอีกคนหนึ่ง โดยให้กรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ พร้อมแนบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ซึ่งมีโจทก์ร่วมที่ 1 ถือหุ้น 280,950 หุ้น โจทก์ร่วมที่ 2 ถือหุ้น 20,000 หุ้น จำเลยที่ 2 ถือหุ้น 50,000 หุ้น จำเลยที่ 3 ถือหุ้น 10,000 หุ้น นายอัณณพถือหุ้น 40,000 หุ้น นายสุรินทร์ถือหุ้น 20,000 หุ้น และผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ไปด้วย วันที่ 23 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 โดยนายอัณณพ กรรมการผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และแนบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ที่โจทก์ร่วมที่ 1 ถือหุ้นลดลงเหลือเพียง 40,000 หุ้น โจทก์ร่วมที่ 2 ถือหุ้นลดลงเหลือเพียง 5,000 หุ้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 หุ้น ครั้นวันที่ 14 เมษายน 2547 นายอัณณพถึงแก่ความตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมทั้งสองต่างเป็นเพื่อนของนายอัณณพ โดยเฉพาะโจทก์ร่วมที่ 2 ได้ร่วมกับนายอัณณพและพวกก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 และบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่ต้น การที่นายอัณณพและนายสุรินทร์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเพิ่มทุนและแนบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จำนวน 280,950 หุ้น และ 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ตามลำดับนั้น เป็นจำนวนเงินใกล้เคียงกับเงินที่โจทก์ร่วมทั้งสองให้นายอัณณพกู้ไป จึงเชื่อว่านายอัณณพได้นำหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มาตีใช้หนี้เงินกู้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองจริง ทั้งได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ โดยเพิ่มชื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ด้วย หากนายอัณณพไม่ได้เป็นหนี้เงินกู้โจทก์ร่วมทั้งสอง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการผู้ถือหุ้นและกรรมการตามเอกสารดังกล่าว ทั้งยังสอดคล้องกับบันทึกคำให้การของนายสุรินทร์ที่ให้การว่า นายอัณณพได้มอบใบหุ้นจำนวน 280,950 หุ้น แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายกัณฐ์ ฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า ปี 2538 ถึงปี 2539 บริษัทมีภาระหนี้มากขึ้น นายอัณณพต้องหาเงินมาบริหารกิจการบริษัท โดยขอยืมเงินจากบุคคลภายนอกมาใช้ และต่อมาได้แปลงหนี้เงินยืมมาเป็นใบหุ้น ทั้งได้จดทะเบียนเพิ่มชื่อโจทก์ร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 พยานเป็นผู้พิมพ์ใบหุ้นของโจทก์ร่วมที่ 1 ส่วนใบหุ้นของโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วได้ส่งมอบแก่นายอัณณพ แต่นายอัณณพมอบแก่โจทก์ร่วมที่ 2 หรือไม่ พยานไม่ทราบ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเจ้าของหุ้น ส่วนหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองที่หายไปจากบัญชีผู้ถือหุ้นตามเอกสารดังกล่าว คงเหลือ จำนวน 40,000 หุ้น และ 5,000 หุ้น ตามลำดับนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การดำเนินการโอนหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 เปลี่ยนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำของนายอัณณพ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 3 มาโดยตลอด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ตอบทนายจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ในการทำบัญชีและติดต่อธนาคาร ย่อมต้องรู้ฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นอย่างดี ทั้งได้ความว่า ก่อนที่นายอัณณพถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ก็ร่วมบริหารงานกับนายอัณณพ โดยไปติดต่อธนาคารขอสินเชื่อเพิ่ม และดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง จนกระทั่งมีการโอนหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองบางส่วนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 อันเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงให้การปรักปรำจำเลยทั้งสาม ไม่อาจหักล้างเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของนายกัณฐ์และนายสุรินทร์มีข้อความเหมือนกันทุกตัวอักษรนั้น ก็หาเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามที่จำเลยทั้งสามอ้างในฎีกาไม่
อย่างไรก็ดี การที่จะเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาหุ้นแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาหุ้นแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share