คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหาจากพนักงานสอบสวน แล้วผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามนัด. จำเลยย่อมมีหน้าที่ใช้เงินตามสัญญา ไม่จำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญา.
เงินที่จำเลยผู้ประกันสัญญาจะใช้เมื่อผิดสัญญาประกัน มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ. เมื่อจำเลยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด.ก็เป็นการผิดสัญญา ย่อมต้องใช้เบี้ยปรับ. การนำตัวผู้ต้องหามาส่งภายหลังหรือคดีนั้นมีการสั่งไม่ฟ้อง.หรือผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์. หาทำให้จำเลยพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไม่. เป็นแต่เพียงเหตุในการใช้ดุลพินิจว่าควรปรับมากน้อยเพียงใด (อ้างฎีกาที่ 1072/2491 และ1039/2499).
พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับคำร้องขอประกันผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมอยู่. ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล. และเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาสั่งคำร้อง แล้วให้ผู้ร้องทำสัญญาประกัน.จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้. ย่อมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ประกันซึ่งผิดสัญญาประกันได้.(อ้างฎีกาที่701/2498).
นายตำรวจสองนายซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจเดียวกันคนหนึ่งลงชื่อเป็นผู้รับสัญญาประกันอีกคนหนึ่งลงชื่อเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาประกัน. เป็นการกระทำของบุคคลในตำแหน่งหน้าที่เดียว ไม่ใช่ทำแทนกัน. และหน้าที่ปฏิบัติดังกล่าวเป็นอำนาจของตำแหน่งหน้าที่ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้.จึงฟ้องคดีโดยระบุตำแหน่งหน้าที่ และระบุนามบุคคลซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เป็นคู่ความได้.(อ้างฎีกาที่ 2106-2108/2492).
กรณีจำเลยผู้ประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด.พนักงานสอบสวนย่อมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนผู้ต้องหาได้. จึงเป็นการเสียหายต่อราชการ. เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันและมีหน้าที่ชำระเบี้ยปรับแล้วไม่ชำระ.เป็นการผิดนัด. ย่อมต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี.
การที่จำเลยร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความร่วม อ้างว่ามีส่วนได้เสียร่วมกับจำเลย ซึ่งจำเลยจะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้นั้น หากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็น จะไม่เรียกเข้ามาก็ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนางนิตตรียา หงษ์สกุลผู้ต้องหาซึ่งถูกจับและอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีโดยสัญญาจะส่งตัวตามนัด ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมใช้เงิน40,000 บาท จำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาตามนัดได้ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2506ซึ่งเป็นวันกำหนดให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาครั้งสุดท้าย จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ผิดสัญญาประกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย นางนิตตรียาผู้ต้องหากับผู้เสียหายยอมความกันแล้ว ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยขอให้เรียกนางนิตตรียา ร้อยเอกชาญ เชี่ยวเวช และนายธีระ เชี่ยวชาญพาณิชย์ เข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าถ้าจำเลยแพ้คดีต้องใช้เงินแก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ย ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยผิดสัญญาประกันแต่จำเลยนำตัวผู้ต้องหามาส่งภายหลัง ควรลดค่าปรับเหลือเพียง 10,000 บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 10,000 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2506จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยใช้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามนัด และมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามสัญญา ไม่จำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญา การผิดสัญญาหรือไม่อยู่ที่การปฏิบัติของจำเลยกับข้อความในสัญญานั้น ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่า เสียหายอย่างไร จำเลยได้นำตัวผู้ต้องหาส่งโจทก์แล้ว คดียอมความกันแล้วไม่มีการเสียหายอะไร ไม่ชอบที่ศาลจะให้ปรับจำเลยถึง 10,000 บาทกับให้ใช้ดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความเสียหายในเรื่องนี้เป็นเบี้ยปรับที่จำเลยผิดสัญญาประกัน เมื่อนายประกันมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด ก็เป็นการผิดสัญญาแล้ว การนำตัวผู้ต้องหามาส่งภายหลังก็ดี หรือคดีนั้นจะมีการสั่งไม่ฟ้อง หรือผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ก็หาทำให้นายประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไม่การนำตัวผู้ต้องหามาส่งภายหลังหรือมีการตกลงเลิกคดีโดยผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ย่อมเป็นเหตุใช้ดุลพินิจว่าควรปรับมากน้อยเท่าใดเท่านั้น เทียบฎีกาที่ 1072/2491 เฉพาะคดีนี้ที่ศาลล่างกำหนดค่าปรับนายประกันมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรแก้ไข ข้อที่จำเลยฎีกาว่า พันตำรวจตรีสำเนา ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องเพราะพันตำรวจตรีรณชัยลงชื่อเป็นคู่สัญญา และไม่ได้เป็นตัวแทนโจทก์ทั้งพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับคำร้องขอประกันผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมอยู่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล และเป็นผู้พิจารณาสั่งคำร้อง แล้วให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106,107, 112 และ 113 พนักงานสอบสวนจึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ ตามฎีกาที่ 701/2498พันตำรวจตรีรณชัย และพันตำรวจตรีสำเนา เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี คนหนึ่งลงชื่อเป็นผู้รับสัญญาประกัน อีกคนหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาประกัน ต่างทำในตำแหน่งหน้าที่พนักงานสอบสวน เป็นการกระทำของบุคคลในตำแหน่งหน้าที่เดียวนั่นเองไม่ใช่ทำแทนกัน และหน้าที่ปฏิบัติดังกล่าวเป็นอำนาจของตำแหน่งหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ฟ้องคดีนี้ระบุตำแหน่งหน้าที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี และระบุนามพันตำรวจตรีสำเนาเป็นคู่ความย่อมฟ้องได้ตามฎีกาที่ 2106-2108/2492 ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่เสียหายอะไรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนผู้ต้องหาส่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ให้ปล่อยผู้ต้องหาตามหน้าที่ในกฎหมายเมื่อจำเลยผู้ประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้ตามกำหนด ก็ขัดข้องทำงานไม่ได้ ย่อมเสียหายต่อราชการ เงินที่กำหนดให้จำเลยใช้เป็นเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380, 381 จำเลยมีหน้าที่ชำระเบี้ยปรับ แล้วไม่ชำระเป็นการผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ข้อที่จำเลยฎีกาว่าศาลควรเรียกนางนิตตรียา ร้อยเอกชาญ และนายธีระเข้ามาเป็นคู่ความ อ้างว่าคนทั้งสามมีส่วนได้เสียร่วมกับจำเลย ซึ่งจำเลยอาจจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเมื่อจำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บุคคลทั้งสามไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ ร้อยเอกชาญและนายธีระไม่เกี่ยวกับการผิดสัญญาของจำเลยหากจำเลยต้องเสียหายอย่างไรก็ชอบที่จะเรียกร้องจากคนทั้งสามในภายหลัง ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกเข้ามาร่วมเป็นคู่ความในชั้นนี้พิพากษายืน.

Share