แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การใช้อำนาจประเมินภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1)เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมิน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 71 วรรคสองว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) แต่เจ้าพนักงานประเมินจะใช้ดุลพินิจประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่นก็ได้หากเจ้าพนักงานประเมินใช้ดุลพินิจประเมินให้โจทก์เสียภาษีตามมาตรา 71 (1)ผู้เสียภาษีก็มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 วรรคสามดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวและใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลตามมาตรา 30 (2) ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ดุลพินิจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ตามมาตรา 71 (1) เป็นการถูกต้องและชอบหรือไม่ด้วย
เจ้าพนักงานของกรมสรรพากรจำเลยได้มีหมายเรียกตามป.รัษฎากรแจ้งไปยังโจทก์ให้นำบัญชี เอกสาร และหลักฐานการลงบัญชีไปส่งมอบโจทก์ได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินและได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารต่าง ๆเอกสารที่โจทก์นำส่งทำให้เจ้าพนักงานประเมินสามารถคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของโจทก์ได้ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ แต่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับ ตามมาตรา 71 (1)โดยอ้างว่า เนื่องจากโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล(แบบ ภ.ง.ด.50) ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แม้ต่อมาโจทก์จะได้ยื่นแบบแสดงรายการหลังจากที่ได้รับหมายเรียกแล้วก็ตาม ซึ่งหากประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ตามมาตรา 24 แห่ง ป.รัษฎากรแล้ว โจทก์ไม่มีภาษีที่จะต้องชำระเพราะจากการตรวจสอบในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ แต่หากประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) โจทก์จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับ คิดเป็นภาษี 2,865,243.67 บาท แต่การตรวจสอบภาษีรายของบริษัท ดี. ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตเดียวกัน ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และต่อมาได้ยื่นแบบแสดงรายการภายหลังจากที่ได้รับหมายเรียกตรวจสอบแล้วเช่นเดียวกับโจทก์ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัท ดี.มีผลประกอบการกำไรสุทธิ ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมิน ประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1)จะได้ภาษีจำนวนมากกว่าการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 24 แต่เจ้าพนักงานประเมินก็มิได้ทำการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) เมื่อโจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีด้วยดี และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ทั้งผลการตรวจสอบภาษีก็ปรากฏว่าโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ เจ้าพนักงานประเมินไม่ควรประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา 71 (1)ซึ่งในคดีภาษีอากรการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานต้องกระทำด้วยความสุจริตและเป็นธรรม และต้องปฏิบัติต่อผู้เสียภาษีทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อการตรวจสอบภาษีรายของโจทก์และรายของบริษัท ดี.มีข้อเท็จจริงเหมือนกัน พ.เจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจสอบภาษีรายของโจทก์และกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รายโจทก์ก็ชอบที่จะใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีโดยใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันด้วยการที่ พ.ใช้ดุลพินิจไม่ประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) สำหรับรายบริษัท ดี.ทั้งที่จากการตรวจสอบปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมีผลประกอบการกำไรสุทธิ แต่ใช้ดุลพินิจประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา 71 (1) ทั้งที่จากการตรวจสอบปรากฏว่าโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี การประเมินของเจ้าพนักงานจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ และเมื่อการประเมินไม่ชอบจึงทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบไปด้วย