คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประสงค์ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลแรงงานภาค 6 เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนทดแทนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและให้พิพากษาว่าการประสบอันตรายของ พ. บุตรโจทก์เกิดจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันเป็นการฟ้องเพื่อทำลายมติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกผู้พิจารณาในชั้นต้น สำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่างเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งและคำวินิจฉัย การที่โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นการฟ้องผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยปัญหาพิพาทตามกฎหมายเพื่อทำลายคำสั่งและคำวินิจฉัยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นจำเลยได้
โจทก์ฟ้องคดีด้วยวาจา ศาลแรงงานภาค 6 บันทึกรายการแห่งข้อหาตามแบบคำฟ้องคดีแรงาน (รง.1) โดยคำขอท้ายคำฟ้องระบุขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ว่า พ. ถึงแก่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้นายจ้าง ไม่เป็นการประสบอันตรายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 และขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณี พ. ถึงแก่ความตายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นเวลา 5 ปี เมื่อสิทธิการได้รับค่าทดแทนของโจทก์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้จ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 8 ปี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์โดยการจ่ายเงินให้จำเลยปฏิบัติตาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ (เกินไปจากคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและพิพากษาว่านายพันธกานต์ ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง และให้จ่ายเงินทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายเป็นเวลา 5 ปี คิดเป็นเงินเดือนละ 3,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 216,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณีการตายของนายพันธกานต์ แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ในการจ่ายนั้นให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา 18 (4) และมาตรา 18 วรรคสี่ โดยค่าจ้างรายเดือนของนายพันธกานต์ เท่ากับ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นส่วนงานหนึ่งของสำนักงานประกันสังคมและพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 49 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนตาม มาตรา 49 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลก คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงมีผลโดยตรงต่อนายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อ มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุด ดังนี้เมื่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยเสียได้ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 29 บัญญัติหลักการไว้ว่าจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนเหมือนคดีแพ่งทั่วไป มาตรา 35 จึงบัญญัติให้นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถเป็นโจทก์ทำคำฟ้องเป็นหนังสือมายื่นต่อศาลเองหรือจะฟ้องคดีด้วยวาจาก็ได้โดยให้ศาลมีอำนาจสอบถามตามที่จำเป็นแล้วบันทึกรายการแห่งข้อหา คดีนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่างเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งและคำวินิจฉัย การที่โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกจึงถือได้แล้วว่าเป็นการฟ้องผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยปัญหาพิพาทตามกฎหมายเพื่อทำลายคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาแก้ต่างแทนฝ่ายจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นจำเลยในคดีนี้ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่าศาลแรงงานภาค 6 มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนรายเดือนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 60 ของเงินค่าจ้างต่อเดือนเป็นเวลา 8 ปี เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีของนายพันธกานต์ซึ่งถึงแก่ความตายจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในอัตราร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน เป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 แม้ว่าศาลแรงงานภาค 6 ได้พิพากษาว่าให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวโดยการจ่ายเงินให้จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ ซึ่งเกินไปจากที่โจทก์มีคำขอเป็นเวลาเพียง 5 ปี โดยมิได้อ้างเหตุว่าศาลเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไรก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อสิทธิการได้รับค่าทดแทนของโจทก์กรณีคดีนี้ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดให้มีสิทธิเป็นเวลา 8 ปี และยังปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อเป็นการทำลายคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนซึ่งต่างเป็นผู้ออกคำสั่งและคำวินิจฉัยว่านายพันธกานต์ถึงแก่ความตายไม่ใช่เป็นผลโดยตรงจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือทำตามคำสั่งนายจ้าง จึงไม่ได้เป็นการประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งในชั้นฟ้องคดีโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของนายพันธกานต์มอบอำนาจให้นางลักขณามาดำเนินคดีโดยการฟ้องคดีด้วยวาจา และศาลแรงงานภาค 6 บันทึกรายการแห่งข้อหา ตามแบบคำฟ้องคดีแรงงาน (รง.1) ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวโดยการจ่ายเงินให้จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ ตามที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยมาได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share