แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งแปรรูปและรับโอนกิจการมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด อันเป็นบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ การที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจะซื้อจะขายแบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณอะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ MICROWAVE ยี่ห้อ ALCATEL – LUCENT เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโทรคมนาคมของประเทศ และการให้บริการโทรศัพท์เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๔/๒๕๕๗
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง บริษัททีเอแอล ไทย บิสสิเนส จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๘๗/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายแบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณกับผู้ถูกฟ้องคดีโดยผู้ถูกฟ้องคดีตกลงจะขายอะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ MICROWAVE ยี่ห้อ ALCATEL – LUCENT จำนวน ๗ รายการ สั่งซื้อเป็นคราวๆ ไป มีกำหนดเวลา ๑ ปี เป็นเงิน ๑,๓๐๐,๑๑๒ บาท เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีได้สั่งซื้ออะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ จำนวน ๗ รายการ กำหนดส่งมอบภายใน ๙๐ วัน ผู้ถูกฟ้องคดีส่งมอบอะไหล่และอุปกรณ์รายการที่ ๑ ถึงที่ ๕ และได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถจัดส่งอุปกรณ์รายการที่ ๖ และที่ ๗ ให้กับผู้ฟ้องคดีได้ เนื่องจากการขออนุญาตการนำเข้าอุปกรณ์เป็นหน้าที่ ของผู้ฟ้องคดีในการดำเนินการขออนุมัติจาก กทช. แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการขออนุมัตินำเข้า เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ได้ และขอยกเลิกใบสั่งซื้อรายการที่ ๖ และที่ ๗ ผู้ฟ้องคดีอนุมัติยกเลิกสัญญาบางส่วนในรายการที่ ๖ และที่ ๗ โดยผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดตามเงื่อนไขของสัญญาทุกประการ ซึ่งตามสัญญานั้นผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระเงินค่าอะไหล่อุปกรณ์รายการที่ ๑ ถึงที่ ๕ ให้กับผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนำค่าอะไหล่อุปกรณ์จำนวนดังกล่าวมาหักกับจำนวนเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดจากการยกเลิกอะไหล่อุปกรณ์รายการที่ ๖ และที่ ๗ คงเหลือเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชำระจำนวน ๙๖๓,๓๘๒.๑๖ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า อุปกรณ์รายการที่ ๖ และที่ ๗ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่งและรับสัญญาณความถี่คลื่นวิทยุ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับผิดชอบในการขออนุญาตการนำเข้า แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการอย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ผิดสัญญาและไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้อง ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิคิดเงินค่าปรับและริบเงิน รวมทั้งไม่มีสิทธิหักเงินค่าสินค้ารายการที่ ๑ ถึงที่ ๕ ที่ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ได้รับชำระแต่อย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาฉบับพิพาท ผู้ฟ้องคดีได้ตกลงจะซื้อและผู้ถูกฟ้องคดีตกลงจะขายอะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ MICROWAVE ยี่ห้อ ALCATEL – LUCENT จำนวน ๗ รายการ ตามเอกสารรายการสินค้าและราคาต่อหน่วยแนบท้ายสัญญานี้ ตามจำนวนที่ผู้ฟ้องคดีจะสั่งซื้อเป็นคราวๆ ไป มีกำหนดเวลาหนึ่งปีนับถัดจากวันลงนามในสัญญา จำนวน ๑,๓๐๐,๑๑๒ บาท ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีได้ออกใบสั่งซื้ออะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธการส่งมอบ กรณีจึงเห็นได้ว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดหาหรือจัดให้มีอุปกรณ์ส่ง และรับสัญญาณความถี่วิทยุซึ่งเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นในการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านกิจการโทรศัพท์ของผู้ฟ้องคดีให้บรรลุผล ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาพิพาทแล้ว สัญญาดังกล่าวเป็นการตกลงซื้อขายอะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ MICROWAVE ตามเอกสารรายการสินค้าและราคาแนบท้ายสัญญา โดยมีข้อตกลงที่ผู้ฟ้องคดีจะสั่งซื้อเป็นคราวๆ ไป เนื้อหาและลักษณะของสัญญาเป็นเพียงสัญญาซื้อขายซึ่งคู่สัญญาอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องในทางแพ่ง แม้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจทางปกครอง สัญญาดังกล่าวก็ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจะซื้อจะขายแบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณกับผู้ถูกฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีตกลงจะขายอะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ MICROWAVE ยี่ห้อ ALCATEL – LUCENT จำนวน ๗ รายการ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถจัดส่งอุปกรณ์ในรายการที่ ๖ และที่ ๗ ให้กับผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีนำค่าอะไหล่อุปกรณ์ในรายการที่ ๑ ถึงที่ ๕ หักกับจำนวนเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดจากการยกเลิกอะไหล่อุปกรณ์รายการที่ ๖ และที่ ๗ คงเหลือเงินบางส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธความรับผิด ขอให้บังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งแปรรูปและรับโอนกิจการมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด อันเป็นบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ การที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจะซื้อจะขายแบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณอะไหล่อุปกรณ์สื่อสัญญาณ MICROWAVE ยี่ห้อ ALCATEL – LUCENT เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโทรคมนาคมของประเทศ และการให้บริการโทรศัพท์เพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี บริษัททีเอแอล ไทย บิสสิเนส จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ