คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2536ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2536 แต่พยานโจทก์เบิกความว่า เกิดเมื่อระหว่างปี 2535 ถือได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นผลให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องนั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งคดี ดังนั้นการที่พยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดแตกต่างจากที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ซึ่งเป็นเพียงรายละเอียด และเมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิด เมื่อระหว่างวันที่ 5 มีนาคม 2536 เวลากลางวันถึงวันที่ 8 มีนาคม 2536 เวลากลางวันติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 362, 365(2), 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุก จำคุก 1 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ประกอบด้วยมาตรา 362, 83 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน ยกฟ้องความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2535 จำเลยกับพวกร่วมกันนำรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกดินและขยะเข้าไปถมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 55871 และ 55872 ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หลังจากถมดินและเศษขยะลงในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยกับพวกใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ยดินให้เรียบ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าผู้เสียหายทั้งสี่เบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ป.จ.2 และ ป.จ.3 (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสี่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทผู้เสียหายทั้งสี่จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1373 ว่าผู้เสียหายทั้งสี่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งไม่ปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวถูกเพิกถอนหรือเวนคืนแต่อย่างใด และโจทก์มีนายเจษฎาพยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2535 พยานไปดูที่ดินพิพาทพบจำเลยกำลังสั่งการให้คนขับรถยนต์บรรทุกเอาดินและขยะเทลงในที่ดินพิพาทพยานได้เข้าไปต่อว่าจำเลยว่า ทำไมมาทำเช่นนี้อีก จำเลยอ้างว่าเรื่องครั้งก่อนคดีเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยกับพวกได้กระทำอันเป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องแล้ว
จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สองว่า ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2536 จำเลยกับพวกได้บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายทั้งสี่ตามฟ้อง แต่จากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสี่กับพยานโจทก์ต่างเบิกความว่า เมื่อระหว่างปี 2535 จำเลยกับพวกได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายทั้งสี่แสดงว่าตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำผิดแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นผลให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งคดี แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสี่และพยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดแตกต่างจากที่โจทก์ฟ้องก็ตามแต่ข้อแตกต่างเกี่ยวกับวันเวลากระทำความผิดเป็นเพียงรายละเอียดไม่ถือเป็นข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษายืน

Share