แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 20 ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัท ส.ผู้ซื้อได้ชำระค่าที่ดินจำนวน 70 ล้านบาท ให้โจทก์ผู้ขายเรียบร้อยแล้ว สัญญาดังกล่าวทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนตามกฎหมายเชื่อว่า ได้มีการชำระค่าที่ดินครบถ้วนตามนั้น ที่โจทก์นำสืบว่า การชำระราคาที่ดินเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 และ 17กล่าวคือ ชำระเป็นเงินสด 35 ล้านบาท โดยผ่อนชำระเป็น5 งวด งวดละ 7 ล้านบาท แต่ละงวดห่างกัน 1 ปี จำนวนที่เหลือ3 ล้านบาท ชำระเป็นหุ้นของบริษัท ส. ในปี 2526 และ 2527ได้รับชำระมาแล้วปีละ 7 ล้านบาท ปี 2528 ไม่ได้รับ ปี 2529ได้รับชำระเพียง 2 ล้านบาท นั้น เป็นการนำสืบที่ขัดต่อสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 20 อีกทั้งสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 ถึง 17 เป็นสัญญาที่ทำกันเองระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. กรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นญาติกัน อาจจะทำสัญญาดังกล่าวกันอย่างไรหรือเมื่อใดก็ได้ และจะให้มีผลผูกพันกันจริงหรือไม่ก็ได้ และตามบัญชีงบดุลของบริษัท ส.ก็ลงไว้ว่า ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่บริษัทโจทก์เป็นเงิน7 ล้านบาท และตั้งบริษัทโจทก์เป็นเจ้าหนี้ 70 ล้านบาทและลงว่าได้ชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 35 ล้านบาท รวมเป็นเงิน70 ล้านบาท ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวแสดงว่าบริษัท ส.ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 70 ล้านบาทยิ่งไปกว่านั้นเมื่อบริษัท ส. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากโจทก์ก็ได้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมธนาคารในวันเดียวกันจำนวน 70 ล้านบาท แสดงว่า บริษัท ส.นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวมาชำระราคาที่ดินให้โจทก์ และโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าหุ้นให้บริษัท ส.35 ล้านบาทและให้บริษัท ส. กู้ยืมจำนวน 28 ล้านบาท จึงเชื่อได้ว่าโจทก์มีรายได้จากการขายที่ดินจำนวน 70 ล้านบาท การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยนำรายได้ดังกล่าวมาลงบัญชีรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 จึงชอบแล้ว คดีนี้ถ้าตรวจดูเฉพาะเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์เท่านั้นก็ไม่สามารถทราบได้ว่าโจทก์หลีกเลี่ยงกำหนดรายได้ให้น้อยลงเพื่อที่จะเสียภาษีให้น้อยกว่าความเป็นจริงและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยถือเอาเอกสารหลักฐานทางบัญชีของบริษัทที่ติดต่อเกี่ยวข้องกับโจทก์มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์มาพิจารณาประกอบการประเมิน จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.6/1041/2/03727ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2531 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 51/2535 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535เสีย หรือหากศาลพิจารณาเห็นว่าโจทก์ควรต้องชำระภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ขอได้โปรดพิพากษาให้งดเบี้ยปรับทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนถูกต้องทุกประการแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน 2530 เพื่อไต่สวนการเสียภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 และต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2531 ได้แจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบ และให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน18,743,589.36 บาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับ 1 เท่า เป็นเงิน18,743,589.36 บาท รวมเป็นภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น37,487,178.32 บาท วันที่ 8 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้แจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่22 เมษายน 2535 ลดเบี้ยปรับให้โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมายโดยให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 เป็นเงิน 18,743,589.36 บาทเบี้ยปรับ 9,371,794.68 บาท รวมเป็นเงิน 28,115,384.04 บาท
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกมีว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 โจทก์ไม่ได้มีรายรับจากการขายที่ดินจำนวน 70 ล้านบาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 20ดังที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์แต่มีรายรับจากการขายที่ดินเพียง7 ล้านบาทจริงหรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัทสาธรการลงทุน จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.1ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัทสาธรการลงทุน จำกัด ผู้ซื้อได้ชำระค่าที่ดินจำนวน 70 ล้านบาท ให้โจทก์ผู้ขายเรียบร้อยแล้วสัญญาดังกล่าวทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนตามกฎหมายเชื่อว่าได้มีการชำระค่าที่ดินครบถ้วนตามนั้น ที่โจทก์นำสืบว่า การชำระราคาที่ดินเป็นตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16และ 17 กล่าวคือ ชำระเป็นเงินสด 35 ล้านบาท โดยผ่อนชำระเป็น5 งวด งวดละ 7 ล้านบาท แต่ละงวดห่างกัน 1 ปี จำนวนที่เหลือ35 ล้านบาท ชำระเป็นหุ้นของบริษัทสาธรการลงทุน จำกัดในปี 2526 และ 2527 ได้รับชำระมาแล้วปีละ 7 ล้านบาท ปี 2528ไม่ได้รับ ปี 2529 ได้รับชำระเพียง 2 ล้านบาท นั้น เห็นว่าการนำสืบดังกล่าวขัดต่อสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 20ทั้งสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 ถึง 17เป็นสัญญาที่ทำกันเองระหว่างโจทก์กับบริษัทสาธรการลงทุน จำกัดกรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นญาติกันอาจจะทำสัญญาดังกล่าวกันอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ และจะให้มีผลผูกพันกันจริงหรือไม่ก็ได้ นายสมพจน์ ปิยะอุย พยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตอนทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน พยานได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ได้รับชำระค่าที่ดิน 70 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้บอกว่ามีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเอาไว้และเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยอีกตอนหนึ่งว่าตามบัญชีงบดุลของบริษัทสาธรการลงทุน จำกัด ลงไว้ว่าได้ชำระค่าที่ดินให้แก่บริษัทโจทก์เป็นเงิน 7 ล้านบาท และตั้งบริษัทโจทก์เป็นเจ้าหนี้ 27 ล้านบาท และลงว่าได้ชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 35 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวแสดงว่า บริษัทสาธรการลงทุน จำกัด ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 70 ล้านบาท นายประณต มุสิกพันธ์ผู้ควบคุมการตรวจสอบบัญชีและควบคุมการจัดทำรายงานการตรวจสอบบัญชีของบริษัทสาธรการลงทุน จำกัด เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า ตามงบดุลของบริษัทสาธรการลงทุน จำกัด รอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม2526 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 54ถึง 65 บริษัทสาธรการลงทุน จำกัด มีทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาทเป็นทุนจดทะเบียน 700,000 บาท หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน70 ล้านบาท ชำระค่าหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 56 โดยมีโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 350,000 หุ้นคิดเป็นเงิน 35 ล้านบาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 65บริษัทสาธรการลงทุน จำกัด ตั้งให้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ 28 ล้านบาทตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่ได้ชำระค่าที่ดินงวดแรก 7 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินรวม 70 ล้านบาทพอดีนายสมพจน์ ปิยะอุย กรรมการโจทก์เบิกความว่าเมื่อบริษัทสาธรการลงทุน จำกัด ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากโจทก์ก็ได้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมธนาคารสหธนาคารจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 21 ในวันเดียวกันจำนวน70 ล้านบาท เชื่อว่า บริษัทสาธรการลงทุน จำกัด นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวมาชำระราคาที่ดินให้โจทก์และโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าหุ้นให้บริษัทสาธรการลงทุน จำกัด 35 ล้านบาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 65 และให้บริษัทสาธรการลงทุน จำกัดผู้ยืมจำนวน 28 ล้านบาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62จึงเชื่อได้ว่า โจทก์มีรายได้จากการขายที่ดินจำนวน 70 ล้านบาทการที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยนำรายได้ดังกล่าวมาลงบัญชีรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 จึงชอบแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์โดยให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายถือว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์มาอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะพิจารณางดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยถือเอกเอกสารหลักฐานทางบัญชีของบริษัทสาธรการลงทุน จำกัดมาประกอบการพิจารณาเป็นผลร้ายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นเห็นว่า ถ้าตรวจดูเฉพาะเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์เท่านั้นก็ไม่สามารถทราบได้ว่าโจทก์หลีกเลี่ยงกำหนดรายได้ให้น้อยลงเพื่อที่จะเสียภาษีให้น้อยกว่าความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยถือเอาเอกสารหลักฐานทางบัญชีของบริษัทที่ติดต่อเกี่ยวข้องกับโจทก์มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใดการกระทำของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยดังกล่าว จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน