คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13044/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. กลับคืนเข้าสู่กองมรดกจึงเป็นกรณีการฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อติดตามเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนเข้าสู่กองมรดกอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้โอนกลับคืนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามกฎหมาย มิใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยทั้งสาม กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาคืนทรัพย์สิน จะนำอายุความมรดกมาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 851 และ 1250 ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ เพื่อนำไปเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียน และใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยินดีในโฉนดที่ดิน 2 แปลง เพื่อแบ่งปันให้ทายาทตามกฎหมายและคำสั่งศาลต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้โจทก์นำคำพิพากษาไปเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและออกโฉนดใหม่ในนามโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยินดี โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1250 ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 3 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนนายลัทกิจ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์นำไปเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวและใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยินดีในที่ดินโฉนดเลขที่ 1250 กึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้นำคำพิพากษาไปเพิกถอนโฉนดที่ดินและออกโฉนดที่ดินใหม่ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยินดีกึ่งหนึ่งโดยปลอดจากภาระผูกพัน ให้โจทก์จำหน่ายเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 851 ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เนื้อที่ 1 งาน 84 ตารางวา ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด โดยให้จำเลยที่ 3 ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนนายลัทกิจ เดิมชื่อนายหลักกวง ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ หากไม่ได้ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้กองมรดกของนายลัทกิจมีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย แจ้งคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์และทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ออกจากสารบบความ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า นายลัทกิจจดทะเบียนสมรสกับนางยินดี ไม่มีบุตรด้วยกัน จำเลยที่ 3 เป็นน้องชายของนายลัทกิจและเป็นบิดาของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 851 และ 1250 ถนนศาลาแดง ถนนทวีสินค้า ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2519 นายลัทกิจได้รับพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย นายลัทกิจถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งนางยินดีเป็นผู้จัดการมรดกของนายลัทกิจ วันที่ 8 ธันวาคม 2540 นางยินดีจดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานางยินดีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2542 ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางยินดีผู้ตาย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2548 จำเลยที่ 3 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 851 และ 1250 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นคดีอุทลุมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริตตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยินดี ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางยินดีกลับคืนเข้าสู่กองมรดกจึงเป็นกรณีการฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อติดตามเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนเข้าสู่กองมรดกอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่ การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้โอนกลับคืนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางยินดีเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามกฎหมาย มิใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยทั้งสาม กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาคืนทรัพย์สิน จะนำอายุความมรดกมาใช้บังคับไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า ที่ดินแปลงพิพาทโฉนดเลขที่ 851 เป็นของนายลัทกิจตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาหรือไม่ ทั้งนี้โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 โดยพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่านายลัทกิจได้เจรจาตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนางสาวอำนวย เพื่อทำการก่อสร้างโรงแรมสุริวงศ์ชุมพรบนที่ดินดังกล่าวและนายลัทกิจเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในกิจการโรงแรมนั้นต่อมา ทั้งนี้พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามนำสืบในลักษณะว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยให้นายลัทกิจซึ่งเป็นพี่ชายเป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับเจ้าของที่ดินและระบุชื่อทางสารบัญจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงนี้ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับฟังคำเบิกความของนางสาวอำนวยผู้ขายที่ดินว่านางสาวอำนวยขายที่ดินแปลงพิพาทให้แก่นายลัทกิจเพื่อสร้างโรงแรมสุริวงศ์ชุมพร ทั้งนี้โดยรับฟังประกอบว่าหลังจากซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทแล้ว นายลัทกิจยังเป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างโรงแรมสุริวงศ์ชุมพรและการดำเนินการกิจการโรงแรมได้มีการขอจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยนายลัทกิจเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ในขณะที่หุ้นส่วนอื่นรวมถึงจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และในการประกอบกิจการโรงแรมสุริวงศ์ชุมพรตั้งแต่ในช่วงแรกก็ไม่มีการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเพิ่งปรากฏการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทหลังจากที่นายลัทกิจและนางยินดีถึงแก่กรรมไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เพียงมีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 851 แทนนายลัทกิจ คดีจึงรับฟังได้ว่าที่ดินแปลงพิพาทโฉนดเลขที่ 851 เป็นของนายลัทกิจ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1250 เป็นของนายลัทกิจหรือจำเลยที่ 3 ในประเด็นนี้โจทก์เบิกความว่า นายลัทกิจซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1250 จากนายนาวี โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไปแทน และเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 851 โดยเป็นที่ดินที่ตั้งของโรงแรมสุริวงศ์ชุมพรที่มีนายลัทกิจเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทั้งยังได้ความจากที่จำเลยที่ 3 เบิกความว่า นายลัทกิจเป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเงินมาชำระราคาที่ดิน อีกทั้งไม่ได้ความว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้จากจำเลยที่ 3 เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงแรมสุริวงศ์ชุมพร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 คดีรับฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1250 เป็นของนายลัทกิจโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินไว้แทน ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาชอบแล้ว คดีได้ความดังกล่าวไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสามต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share