คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เนื่องจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 40 แต่จำเลยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา จึงไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ และโจทก์ทั้งสิบไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามความหมายของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 จึงไม่นำบทบัญญัติมาตรา 8 และมาตรา 10 มาใช้แก่โจทก์ทั้งสิบ

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสิบสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 49/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 และคำสั่งที่ 90/2549 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ของจำเลย กับให้บังคับจำเลยคืนเงินเดือนค่าจ้าง 2 ขั้น ที่ลดไปแล้วและจะถูกลดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบ
จำเลยทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบ
โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 10 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาอนุญาต เหลือโจทก์รวม 2 คน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นพนักงานของจำเลย สังกัดฝ่ายโรงงานไม้อัดไทย สระบุรี ตำแหน่งงานและอัตราค่าจ้างเป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 จำเลยตรวจสอบพบว่าฝ่ายโรงงานไม้อัดไทย สระบุรี รับซื้อไม้ทำเยื่อขนาดเล็ก แต่จ่ายแพงในราคาไม้ทำเยื่อขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจรับไม้ทำเยื่อของจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวขึ้น ผลสรุปว่าโจทก์ทั้งสิบและนายธรรมรัตน์ มีความผิด วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 49/2549 ลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งสิบและนายธรรมรัตน์ กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,219,855 บาท แก่จำเลย โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 จำเลยมีคำสั่งที่ 90/2549 ลงโทษลดขั้นเงินเดือนค่าจ้างโจทก์ทั้งสิบและนายธรรมรัตน์คนละ 2 ขั้นกับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,645,001.08 บาท แก่จำเลย ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายโรงงานไม้อัดไทย สระบุรี มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานของฝ่ายโรงงานไม้อัดไทย สระบุรี โจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่หัวหน้ากองจัดการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดซื้อและออกใบสั่งซื้อไม้ทำเยื่อ โจทก์ที่ 4 ทำหน้าที่หัวหน้ากองผลิต มีหน้าที่ควบคุมดูแลการตรวจรับไม้ทำเยื่อในกระบวนการผลิตให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของจำเลย โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการตรวจรับไม้ มีหน้าที่ตรวจรับไม้ทำเยื่อที่มีผู้นำมาขายให้เป็นไปตามที่กำหนดในเงื่อนไขใบสั่งซื้อ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบกระทำความผิดและมีความผิดตามที่จำเลยกล่าวหา การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งสิบจำเลยได้กระทำไปภายในกรอบของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ดุลพินิจกลั่นแกล้งลงโทษโจทก์ทั้งสิบทั้งการพิจารณากำหนดค่าเสียหายโดยเปรียบเทียบจากปริมาณไม้ทำเยื่อ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2548 เป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสิบอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จะสั่งตามขอ
สำหรับอุทธรณ์โจทก์ที่ 1 และที่ 6 ตามข้อ 2.2.4 ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 6 อุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 และมาตรา 10 มิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ การที่จำเลยลงโทษโจทก์ทั้งสิบให้รับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวตามอุทธรณ์แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นแม้จำเลยจะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เนื่องจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 50 แต่จำเลยมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา จึงมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐ และโจทก์ทั้งสิบก็มิใช่เจ้าหน้าที่ตามความหมายของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 จึงไม่นำบทบัญญัติตามมาตรา 8 และมาตรา 10 ของพระราชบัญญัตินี้มาใช้แก่โจทก์ทั้งสิบ ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ทั้งสิบกระทำการดังที่ถูกกล่าวหาแล้ววินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ที่ 1 และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share