คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมหนังสือแม้กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 229 และ 230 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปจนถึง 10 ปี ก็จริง แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 กำหนดโทษว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีซึ่งไม่มีกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ เมื่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลทำการพิจารณาเป็นเช่นนี้ ในการวินิจฉัยกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 จึงต้องถือเอาตามนั้น แม้จะไม่ได้ระบุว่ามาตราใดตรงกับมาตราของกฎหมายเดิมมาตราไหน แต่ก็อาจเห็นจากบทบัญญัติของกฎหมายเก่าและใหม่ได้อยู่ในตัวแล้ว เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสั่งไม่ให้สืบพยาน เช่นนี้ ย่อมเป็นการชอบแล้ว เพราะการที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์หรือไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณา (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2503)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี จำเลยจะฎีกาว่าจำเลยมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 โดยบิดาจำเลยได้นำเงินส่วนตัวมอบให้ผู้เสียหายหมดสิ้นแล้ว และว่าการที่ศาลมิให้จำเลยสืบพยาน ทำให้ศาลไม่ทราบถึงข้อควรคำนึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ดังนี้ หาได้ไม่ เพราะการฎีกาดังกล่าวขัดกับที่ปรากฏในรายงานพิจารณาที่ว่า จำเลยแถลงว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินมาชำระแก่เจ้าทุกข์ได้ จำเลยขอให้ศาลพิพากษาไป การที่จำเลยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพฟังได้ว่าจำเลยรับราชการเป็นหัวหน้าแผนกคลัง กรมอัยการ มีหน้าที่ปกครองรักษาเงินรับและจ่ายเงินของทางราชการกรมอัยการและมีหน้าที่เขียนเช็คธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเบิกเงินของกรมอัยการมาจ่าย จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตเขียนเช็คปลอมโดยเติมจำนวนที่เบิก เบิกเกินกว่าที่ต้องเบิกจริง แล้วจำเลยเอาเงินส่วนเบิกมาเกินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวทั้งจำเลยยังได้เบียดบังเอาเงินต่าง ๆ ที่จำเลยรักษาตามหน้าที่มาเป็นประโยชน์ส่วนตนและบอกให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชีลงรายการเท็จ

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง คือ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131, 222, 223, 224, 225, 227, 229, 230, 304, 319 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 2) มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 161, 264, 265,266, 268, 341 แต่ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย จำคุกจำเลย 8 ปี ตามมาตรา 147 อันเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามมาตรา 147 อันเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามมาตรา 91 จำเลยรับลดกึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาด 464,286.53 บาท แก่กรมอัยการ

ข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 229 กับ 230 ไม่มีการสืบพยานตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมหนังสือ กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 229 และ 230 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปจนถึง 10 ปีก็จริงแต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 กำหนดโทษว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งไม่มีกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำ เมื่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลทำการพิจารณาเป็นเช่นนี้ ในการวินิจฉัยกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 จึงต้องถือเอาตามนั้น แม้จะไม่ได้ระบุว่ามาตราใดตรงกับมาตราของกฎหมายเดินมาตราไหน แต่ก็อาจเห็นจากบทบัญญัติของกฎหมายเก่าและใหม่ได้อยู่ในตัวแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ให้สืบพยาน จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 มาตรา 11 แล้ว

ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 โดยบิดาจำเลยได้นำเงินส่วนตัวมอบให้กรมอัยการหมดสิ้นแล้ว และว่าการที่ศาลมิให้จำเลยสืบพยาน ทำให้ศาลไม่ทราบถึงข้อที่ควรคำนึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 20 พ.ค. 2501 ว่า จำเลยแถลงว่าจำเลยไม่สามารถชำระเงินแก่เจ้าทุกข์ได้ตามที่เคยแถลงไว้ จำเลยขอให้ศาลพิพากษาคดีไป การที่จำเลยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับวินิจฉัย

Share