คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประเทศภาคีแห่งอนุสัญญากรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908และภาคีโปรโตคลเพิ่มเติม กรุงเบอร์น ค.ศ. 1914 ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อรัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิส และให้รัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิสแจ้งให้ประเทศที่เป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตประเทศอื่น ๆ ทราบ เกี่ยวดินแดนของประเทศที่จะให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อตกลง การที่ประเทศสหราชอาณาจักรประกาศให้ฮ่องกงเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งเป็นหนังสือไปให้รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสทราบและสมาพันธรัฐสวิสได้แจ้งการประกาศของประเทศสหราชอาณาจักรให้ดินแดนฮ่องกงเข้าเป็นภาคีแห่งกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 ไปให้ประเทศในภาคีรวมทั้งประเทศไทยทราบ การประกาศของประเทศสหราชอาณาจักรดังกล่าวไม่อาจฟังได้ว่าฮ่องกงมีฐานะเป็นภาคีตามบทบัญญัติของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 มาตรา 26 วรรคท้าย ประเทศไทยก็ไม่ต้องให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของฮ่องกงตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท์ จำกัด ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายฮ่องกง จำเลยซึ่งประกอบกิจการเปิดร้านให้เช่าภาพยนตร์ในตลับวีดีโอเทป ได้นำภาพยนตร์ที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รวม 10 เรื่อง มาบันทึกให้ปรากฏในวีดีโอเทปเพื่อออกโฆษณาให้ปรากฏแก่สาธารณชนโดยการนำออกให้เช่า โดยนำภาพยนตร์ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสิบเรื่องบันทึกลงในวีดีโอเทปที่จำเลยมีไว้ให้ผู้อื่นเช่ารวม 170 ม้วน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 24, 25, 27, 43, 44, 47 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไข เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4และให้ตลับวีดีโอเทปของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทผู้เสียหายโดยบริษัทซีเนกรุ๊ป จำกัดผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง ลงโทษปรับ 20,000 บาทกรณีไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้ตลับวีดีโอเทปของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2528เวลากลางวัน เจ้าพนักงานได้ยึดม้วนวีดีโอเทป รวม 10 เรื่องจำนวน 170 ม้วน เป็นของกลางจากร้านค้าของจำเลยซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้เช่าวีดีโอเทป ของกลางทั้งหมดเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ร่วมซึ่งได้จัดทำ และโฆษณาครั้งแรกที่ฮ่องกงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม มีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพียงว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่างประเทศตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 หรือไม่เท่านั้นปัญหาดังกล่าวมีข้อจะต้องพิจารณาว่าประเทศไทยต้องให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของฮ่องกงตามกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคลเพิ่มเติม กรุงเบอร์น ค.ศ. 1914ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่หรือไม่ ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าประเทศสหราชอาณาจักรเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเบอร์นกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 เมื่อ ค.ศ. 1912 และเข้าเป็นภาคีกับโปรโตคลเพิ่มเติมกรุงเบอร์น ค.ศ. 1914 ในปีค.ศ. 1915 ประเทศไทย และประเทศสหราชอาณาจักรรวมถึงฮ่องกงยังคงมีความผูกพันกันอยู่ตามกรรมสารกรุงเบอร์ลินค.ศ. 1908 และตามโปรโตคลเพิ่มเติมกรุงเบอร์น ค.ศ. 1914อยู่จนถึงปัจจุบัน และประเทศสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้ดินแดนฮ่องกงเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว แต่การประกาศของประเทศสหราชอาณาจักรให้ฮ่องกงเป็นภาคีนั้นได้ความตามมาตรา 26วรรคท้ายของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 ว่า ให้แจ้งคำประกาศเช่นว่านั้น เป็นหนังสือต่อรัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิสและให้รัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิสแจ้งให้ประเทศที่เป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตประเทศอื่น ๆ ทราบ ศาลฎีกา เห็นว่า การที่ประเทศสหราชอาณาจักรจะประกาศให้ดินแดนฮ่องกงเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามกรรมสารดังกล่าว คือเมื่อประเทศสหราชอาณาจักรประกาศให้ฮ่องกงเข้าเป็นภาคีแล้ว ยังจะต้องแจ้งเป็นหนังสือไปให้รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสทราบและให้รัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิสแจ้งให้ประเทศที่เป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตประเทศอื่น ๆ ทราบ ซึ่งทางนำสืบของโจทก์ในข้อนี้ได้ความจากนายวรพจน์วิศรุตพัชญ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกมลมิตรวุฒิจำนงค์ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายสุรพล โพนประเสริฐ ข้าราชการกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศพยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมายปจ.14 ปจ.15 และ ปจ.16 ว่าประเทศไทยและประเทศสหราชอาณาจักรรวมทั้งเมืองฮ่องกงต่างเป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลินค.ศ. 1908 และโปรโตคลเพิ่มเติมกรุงเบอร์น ค.ศ. 1914อาศัยสิทธิตามกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 ประเทศสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้ดินแดนฮ่องกงเป็นภาคีเท่านั้นโดยไม่ได้ความว่า การประกาศให้ฮ่องกงเป็นภาคีนั้นได้แจ้งเป็นหนังสือไปให้รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสทราบหรือไม่ และรัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสได้แจ้งให้ประเทศเป็นสมาชิกแห่งสันนิบาต รวมทั้งประเทศไทยทราบหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้โจทก์นำสืบตามเอกสารหมายปจ.16 พร้อมคำแปลซึ่งเป็นคำให้การของนายกัสท์ เอ.เลดาคิสที่ปรึกษากฎหมายองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกมีความว่าประเทศไทยและฮ่องกงมีความผูกพันในเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศตามกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 โดยมีเอกสารผนวกท้ายหมายเลข 1 มีความว่าประเทศสหราชอาณาจักรเข้าเป็นภาคีแห่งกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 โดยได้ให้สัตยาบันและโดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติ มาตรา 30 แห่งกรรมสารกรุงเบอร์ลินค.ศ. 1908 และตามความในวรรคท้ายแห่งหนังสือบันทึกการส่งมอบสัตยาบันสารซึ่งลงนามกัน ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนค.ศ. 1910 ฝ่ายบริหารแห่งสมาพันธรัฐสวิส ได้แจ้งประกาศการเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญา โดยทำเป็นหนังสือเวียนแก่รัฐบาลแห่งรัฐทั้งหลายที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาแล้ว เห็นว่า หากรัฐบาลแห่งสมาพันธรัฐสวิสแจ้งการประกาศของประเทศสหราชอาณาจักรให้ดินแดนฮ่องกงเข้าเป็นภาคีแห่งกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908ไปให้ประเทศภาคีรวมทั้งประเทศไทยจริงแล้วก็น่าจะปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารไว้บ้าง โดยเฉพาะองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกเป็นที่เก็บเอกสารสำหรับการทำสนธิสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารดังกล่าว คงมีแต่ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายขององค์การดังกล่าวเท่านั้นเป็นความเห็นที่ไม่มีหลักฐานจึงเลื่อนลอยข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่าการที่ประเทศสหราชอาณาจักรประกาศให้ฮ่องกงเป็นภาคีนั้นได้แจ้งเป็นหนังสือไปให้รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสทราบและสมาพันธรัฐสวิสได้แจ้งการประกาศของประเทศสหราชอาณาจักรให้ดินแดนฮ่องกงเข้าเป็นภาคีแห่งกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 ไปให้ประเทศในภาคีรวมทั้งประเทศไทยทราบ ดังนั้น การประกาศของประเทศสหราชอาณาจักรให้ดินแดนฮ่องกงเข้าเป็นภาคีแห่งกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 ไม่ทำให้ฟังได้ว่าฮ่องกงมีฐานะเป็นภาคีตามบทบัญญัติของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908มาตรา 26 วรรคท้ายเมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศไทยก็ไม่ต้องให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของฮ่องกงตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 42 การกระทำของจำเลยตามที่มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิด..”
พิพากษายืน

Share