แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 1 โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์โดยกระชากเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายทั้งสองไปโดยทุจริต โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามฉกฉวยเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายทั้งสองไปซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานวิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 309, 340, 340 ตรี ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลรอการลงโทษไว้เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ส่วนข้อหาความผิดอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 18 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นผู้กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 12 ปี บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ เป็นจำคุกคนละ 12 ปี 6 เดือน ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้วิ่งเข้าไปกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายที่ 1 สวมใส่อยู่ โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงหรือบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์หรือสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 2 โดยลำพัง มิได้มีการปรึกษาหารือกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการลักเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 1 โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์โดยกระชากเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายทั้งสองไปโดยทุจริตโดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามฉกฉวยเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายทั้งสองไปซึ่งหน้าอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานวิ่งราวทรัพย์ แม้จำเลยที่ 1 จะรับสารภาพในความผิดฐานนี้ก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย เท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ความจากผู้เสียหายที่ 1 ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 เข้าไปกระชากสร้อยคอนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ที่พวกจำเลยขับ ดังนี้ ในสภาวะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์เพื่อรอจำเลยที่ 1 ที่จะเดินทางไปด้วยกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมต้องจ้องมองไปยังจำเลยที่ 1 และเห็นจำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 2 แล้ววิ่งมาขึ้นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งรออยู่ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับจำเลยที่ 1 ขึ้นรถและขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 ซึ่งเพิ่งลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 มาในทันทีทันใดโดยที่การลักทรัพย์นั้นยังไม่ขาดตอนแล้วหลบหนีไปด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคสอง, 336 ทวิ, 309 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคสอง, 336 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 86, 309 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะมีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานสนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวมีกำหนดคนละ 2 ปี จำคุกจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกระทำความผิดต่อเสรีภาพคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 6 เดือน ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่ให้คืนแก่เจ้าของ.