แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หลักฐานแห่งการกู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่า มีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอ ไม่ได้บังคับว่าต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ด้วยหรือหากไม่ระบุลงไว้จะต้องถือว่าไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เมื่อเอกสารพิพาทระบุว่าจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ยืมเงินจำนวนเงินและวันเดือนปี แม้มิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ก็ตาม ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว และโจทก์มีสิทธินำสืบได้ว่าผู้ให้กู้คือโจทก์ได้ไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข) หนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้โจทก์มีสิทธิทวงถามได้โดยพลันตามป.พ.พ. มาตรา 203 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามเมื่อใดจึงถือว่าจำเลยผิดนัดในวันฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง ยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือน หลังจากกู้ยืมเงินไปแล้ว จำเลยทั้งสองไม่เคยชำระดอกเบี้ยและเงินต้นแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,950,936 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,370,000 บาทนับแต่วันฟ้อง จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,370,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปในข้อแรกมีว่า เอกสารหมาย จ.7 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ฉะนั้น สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงอยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่า มีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ด้วย หรือหากไม่ระบุลงไว้จะต้องถือว่าไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เมื่อเอกสารหมาย จ.7 มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินของผู้ให้กู้ซึ่งมิได้ระบุชื่อลงไว้จำนวนเท่าใดเมื่อวันเดือนปีใด ทั้งจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ยืมครบถ้วนตามสาระสำคัญของบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว เอกสารหมาย จ.7จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า การที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นผู้ให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)หรือไม่ เห็นว่า แม้หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 นั้น จะมิได้ระบุว่ากู้ยืมเงินจากผู้ใด โจทก์ก็นำสืบพยานบุคคลอธิบายให้เห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม เพราะการกู้ยืมเงินตามเอกสารดังกล่าวย่อมจะต้องมีผู้ให้กู้ยืมเมื่อมิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ยืมลงไว้ให้ปรากฏโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมย่อมมีสิทธิที่จะนำสืบอธิบายให้ชัดแจ้งว่าผู้ให้กู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.7 คือโจทก์ได้ ไม่เป็นการสืบเพิ่มเติมเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แต่อย่างใด
ปัยหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินกู้ยืมต่อโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ต่อกันไว้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธในข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองรับตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แต่ตามคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองอันจะเป็นเหตุให้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดวันเวลาใด จึงต้องฟังให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดในวันฟ้องนั้นเองจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.