คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าของที่ดินเดิม เป็นผู้สร้างตึก พร้อม กันสาด แล้วได้ แบ่งแยกเป็นแปลง ๆ ขาย ทำให้กันสาดที่สร้างในที่ดินแปลงหนึ่งรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่แบ่งแยกอีกแปลงหนึ่ง จำเลยซื้อ ตึก ซึ่ง มีกันสาดอยู่แล้ว ส่วนโจทก์ซื้อ ที่ดินในสภาพที่มีกันสาดดังกล่าวรุกล้ำดังนี้กันสาดที่รุกล้ำมิได้เกิดจากจำเลยเป็นผู้สร้าง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 ซึ่ง เป็นบทยกเว้นเรื่องส่วนควบและแดนกรรมสิทธิ์โดย บุคคลผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดย สุจริตมีสิทธิใช้ ที่ดินของผู้อื่นในส่วนที่รุกล้ำนั้นแต่ ต้อง เสียค่าใช้ ที่ดินแก่เจ้าของที่ดิน เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้สร้าง จึงไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ต้อง นำ ป.พ.พ.มาตรา 4 มาใช้ บังคับคืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งซึ่ง ได้แก่มาตรา 1312 วรรคแรก ฉะนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิใช้ ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิที่ดินของโจทก์เฉพาะ ที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปได้ส่วนโจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยรื้อกันสาด คงมีสิทธิเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยใช้ ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิที่ดิน แต่ โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับในส่วนนี้ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่11054 พร้อมกับตึกเลขที่ 286/2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 26197แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่26197 ทางทิศตะวันออกอยู่ติดกับตึกเลขที่ 286/9-10 ของจำเลยกันสาดจากตึกจำเลยยาวประมาณ 3 เมตร รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่สามารถก่อสร้างหรือขยายตึกในที่ดินดังกล่าวได้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อกันสาดที่รุกล้ำออกแล้วจำเลยเพิกเฉย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อกันสาดส่วนที่รุกล้ำในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ออก หากเพิกเฉยให้โจทก์รื้อเองได้โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อกันสาดดังกล่าวออกแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินโฉนดเดียวกัน เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้สร้างตึกพร้อมกันสาดและแย่งแยกที่ดินขาย ระหว่างตึกโจทก์จำเลยได้เว้นเป็นทางเดินเข้าออกและวางท่อระบายน้ำไว้ จำเลยซื้อตึกมาจากบุคคลอื่นอีกทอดหนึ่งมิได้ก่อสร้างกันสาดขึ้นใหม่แต่อย่างใด โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่26197 โดยทราบดีว่ามีกันสาดตึกจำเลยรุกล้ำอยู่แล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อกันสาดที่รุกล้ำและเรียกค่าเสียหายได้ค่าเสียหายมีไม่ถึงตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อ พ.ศ. 2524 โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่11054 พร้อมตึกเลขที่ 286/2 จากนายวิชิต เฉิดมนูเสถียร กับพวกต่อมา พ.ศ. 2528 โจทก์กับพวกได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 26197 ซึ่งอยู่ติดด้านหลังตึกของโจทก์และด้านข้างตึกของจำเลยจากนายสำเริงเจียรวิบูลย์ยานนท์ กับพวก เฉพาะส่วนของโจทก์มี 3 ตารางวาเพราะโจทก์ต้องการใช้เป็นที่ทำครัวและเก็บของ ส่วนจำเลยเข้ามาอยู่ในตึกซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2528 ขณะโจทก์ซื้อที่ดินด้านหลังนี้ ตึกที่จำเลยอยู่มีกันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์แล้ว แต่โจทก์เพิ่งทราบเมื่อมีการรังวัดแบ่งเขต ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่เจ้าของตึกเดิมก่อนโจทก์และจำเลยเข้ามาอยู่ได้สร้างกันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริต เมื่อจำเลยรับโอนตึกดังกล่าวมาพร้อมกันสาดที่รุกล้ำถือว่าจำเลยไม่สุจริตเช่นกันนั้น ได้ความจากนายสำเริง เจียรวิบูลย์ยานนท์ พยานโจทก์ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 26197 เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างนายสำเริงกับพวกอยู่ติดด้านหลังตึกของโจทก์ และติดด้านข้างตึกของจำเลยขณะที่นายสำเริงกับพวกซื้อที่ดินแปลงนี้มา ตึกของโจทก์และของจำเลยมีอยู่แล้วสร้างโดยเจ้าของเดียวกัน สร้างเสร็จเจ้าของเดิมก็แบ่งขายพร้อมที่ดิน กันสาดพิพาทก็สร้างพร้อมกับตึกพิพาทนายจุ้งเลี้ยง แซ่เตียว เจ้าของร่วมที่ดินโฉนดเลขที่ 26197 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ตึกของโจทก์จำเลยสร้างพร้อม ๆ กัน ก่อนที่นายจุ้งเลี้ยงจะมาซื้อที่ดินแปลงนี้ไม่มีพยานโจทก์ฝ่ายใดยืนยันว่าเจ้าของที่ดินและตึกเดิมนั้นได้สร้างกันสาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตอย่างไร ข้อเท็จจริงได้ความว่าตึกของโจทก์จำเลยสร้างโดยเจ้าของเดียวกัน สร้างเสร็จเจ้าของเดิมได้แบ่งขายพร้อมที่ดิน กันสาดสร้างพร้อมตึกดังกล่าว จำเลยซื้อตึกซึ่งมีกันสาดอยู่แล้ว และโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 26197 เมื่อพ.ศ. 2528 ในสภาพที่มีกันสาดรุกล้ำที่ดินของโจทก์อยู่แล้วศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 1312 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติเรื่องที่ผู้ไม่มีสิทธิในที่ดินสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ จำเลยมิใช่ผู้สร้างตึกพร้อมทั้งกันสาด หากแต่เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเอง ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินเป็นแปลง ๆ จึงทำให้กันสาดของตึกที่สร้างในที่ดินแปลงหนึ่งรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่แบ่งแยกอีกแปลงหนึ่ง กรณีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 เพราะการรุกล้ำมิได้เกิดจากจำเลยเป็นผู้สร้างเมื่อคดีไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1312 แล้ว ปัญหามีว่าโจทก์มีสิทธิจะฟ้องขอให้จำเลยรื้อกันสาดออกไปให้พ้นเขตที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 1312 เป็นบทยกเว้นเรื่องส่วนควบและแดนกรรมสิทธิ์ โดยบุคคลผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมีสิทธิใช้ที่ดินของผู้อื่นในส่วนที่รุกล้ำนั้นได้แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดิน และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมิได้เป็นผู้สร้าง หากแต่เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในที่ดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ จึงจะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 1312 วรรคแรกคือจำเลยมีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อกันสาด แต่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ต่อไป แต่โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับเช่นนั้น คงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อกันสาดออกไป ซึ่งศาลไม่อาจบังคับให้ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share