คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศต 3648 กรุงเทพมหานคร พร้อมเอกสารอื่น ๆ ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องและหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินการทางทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก หากจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฏิบัติ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ส่งคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศต 3648 กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเอกสารอื่น ๆ ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ชำระค่าเสียหาย 73,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กันยายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศต 3648 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 ในราคา 940,170.01 บาท โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ 19,587 บาท รวม 48 เดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 งวดต่อไปทุกวันที่ 15 ของเดือน ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ วันที่ 7 กันยายน 2550 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 530,000 บาท โดยโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 335,172 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์ตกลงชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายรถยนต์ และโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว และระหว่างชำระค่าเช่าซื้อ วันที่ 17 สิงหาคม 2549 และวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่ออเนกประสงค์ส่วนบุคคลโดยมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9. ว่า “…แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) จะได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ตามคำขอฉบับนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยังคงยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียน รวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ต้นเงิน ดอกเบี้ย และหนี้สินอื่นใดที่ผู้กู้คงค้างชำระอยู่คืนให้กับธนาคารได้ครบถ้วนทั้งจำนวน” ตามคำขอสินเชื่อเอกนกประสงค์ส่วนบุคคล จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปจากจำเลยที่ 2 ตามคำขอสินเชื่อแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ศต 3648 กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเอกสารอื่น ๆ ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ” การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำเป็นหนังสือตามหนังสือสัญญาขายรถยนต์ จึงเป็นอันสมบูรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าเชื่อซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีการแจ้งคำบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้ความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือ แม้ จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าเช่าซื้อจากโจทก์โดยวิธีโอนเงินผ่านธนาคารในนามจำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงการที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จะถือว่าการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือแก่การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วมิได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคล ให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วนซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคล ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียน รวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นยันต่อโจทก์ได้โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในเรื่องค่าเสียหายดังกล่าวจะต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share