คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแบ่งมรดกระหว่างทายาทด้วยกันนั้น ทายาทจะต้องมีเจตนาร่วมกันเพื่อแบ่งมรดก บิดายกที่ดินให้บุตร 200 ตารางวา ที่ดินนี้ไม่ใช่ของนางถนอมมารดาที่ถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว จำเลยซึ่งเป็นบิดามีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย การยกให้ระบุชัดว่าให้เป็นทรัพย์ส่วนตัวของบุตร ในฐานะจำเลยเป็นบิดาต้องสงเคราะห์บุตรของตนดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งมรดกของนางถนอมภรรยาของจำเลยให้แก่บุตร
บุตรได้รับการยกให้แล้วได้เอาที่ดินไปจำนอง 2 ครั้ง จำเลยซึ่งเป็นบิดาไปไถ่คืนมา การไถ่มานั้นเพื่อเอาที่ดินเป็นของจำเลยเอง แต่ยังไม่ได้แก้ทะเบียนใส่ชื่อจำเลย บุตรเอาที่ดินไปขาย 70 ตารางวา เอาไปจำนอง 130 ตารางวา เป็นเรื่องของจำเลยผู้เป็นบิดาจะไปว่ากล่าวต่างหากไม่เกี่ยวกับมรดกของภรรยาจำเลย ซึ่งจำเลยจะขอให้หักเป็นส่วนได้ของบุตรด้วยไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้เป็นคดีอุทลุม พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยแทนนางน้อมบุตรของจำเลยว่าจำเลยกับนางถนอมสมรสกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยนางถนอมมีสินเดิมฝ่ายเดียว มีบุตรด้วยกัน ๕ คน พ.ศ. ๒๔๙๘ นางถนอมตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินหนึ่งแปลง เรือนหนึ่งหลังรวมราคา ๑,๕๔๕,๐๐๐ บาท เมื่อหักสินเดิมออก คงเหลือสินสมรสจะต้องแบ่งเป็นของนางถนอม ๒ ส่วน ของจำเลย ๑ ส่วน มรดกของนางถนอมจะต้องแบ่งระหว่างทายาท ๗ คน ทายาทได้ปกครองร่วมกันมา นางน้อมบุตรจำเลยขอแบ่งจำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า จำเลยและนางถนอมมีสินเดิมด้วยกันทั้งสองฝ่ายระหว่างอยู่กินด้วยกันมีสินสมรสตามฟ้อง หลังจากนางถนอมถึงแก่กรรม จำเลยได้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว คดีโจทก์ขาดอายุความ การแบ่งสินสมรสนางถนอมมีส่วนได้เพียง ๑ ใน ๓ ซึ่งจะต้องนำไปแบ่งระหว่างทายาท ๗ คน พ.ศ. ๒๕๐๒ จำเลยได้โอนที่ดินให้นางน้อม ๒๐๐ ตารางวา ต่อมานางน้อมเอาไปขายฝากใกล้จะหลุด จำเลยได้ไถ่คืนแต่ยังไม่ได้แก้โฉนด นางน้อมได้แบ่งที่ดินขาย ๗๐ ตารางวา ส่วนที่เหลือก็เอาไปขายฝาก จำเลยได้ไถ่คืน ๒ คราว เป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท เกินส่วนได้ในมรดกนางน้อมจึงไม่มีสิทธิขอแบ่งมรดกจากจำเลยอีก
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่านางถนอมและจำเลยต่างมีสินเดิมด้วยกัน แต่ราคาเท่าใดฟังเป็นแน่นอนไม่ได้และสินเดิมหมดแล้ว มีสินสมรสคือที่ดินและเรือน เมื่อนางถนอมตาย ทายาทยังไม่ได้แบ่งมรดกของนางถนอมคงครอบครองร่วมกันมา เกี่ยวกับที่ดิน ๒๐๐ ตารางวานั้น จำเลยได้ยกที่ดินส่วนของจำเลยให้นางน้อมเป็นส่วนตัวหาได้เกี่ยวกับมรดกไม่ พิพากษาให้แบ่งที่ดินและเรือนออกเป็น ๓ ส่วน เป็นมรดกของนางถนอม ๑ ใน ๓ ในหนึ่งส่วนนี้เมื่อหักค่าทำศพ ค่าต่อเติมเรือนออกเหลือเท่าใด ให้แบ่งให้นางน้อม ๑ ใน ๗ ส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้โอนที่ดินมรดกให้นางน้อมไป ๒๐๐ ตารางวาแล้วนางน้อมไปทำหนี้ไม่มีเงินไถ่ที่แปลงนี้ จำเลยจึงเอาเงินกองมรดกไถ่ที่แปลงนี้ให้นางน้อมเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐บาท ต่อมานางน้อมเอาที่ไปขาย ๗๐ ตารางวา เห็นว่าจำเลยโอนที่มรดกให้นางนอม เมื่อคำนวณราคาแล้วมากกว่าส่วนที่นางน้อมจะได้รับ นางน้อมจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องมรดกอีก พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การแบ่งมรดกระหว่างทายาทนั้น ทายาทจะต้องมีเจตนาร่วมกันเพื่อแบ่งมรดก ที่นางน้อมขอที่ ดิน ๒๐๐ ตารางวานั้น หาเป็นการร่วมกันเพื่อแบ่งมรดกไม่ ถ้าเป็นการแบ่งมรดกของนางถนอมแล้วนางน้อมก็ควรได้มากกว่านี้ ที่ดิน ๒๐๐ ตารางวาที่จำเลยให้นางน้อม หาใช่เป็นทรัพย์มรดกของนางถนอมภรรยาจำเลยแต่ผู้เดียวไม่ จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ ๒ ใน ๓ ส่วน จำเลยยกที่ดินให้เป็นทรัพย์ส่วนตัว ในฐานะที่จำเลยเป็นบิดาต้องสงเคราะห์บุตรของตน ส่วนเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยเอาไปไถ่ถอนที่ดินคืนมานั้น ที่จำเลยไถ่ถอนมาเพื่อเอาที่เป็นของจำเลย แต่ยังไม่ได้แก่ทะเบียน จำเลยไม่มีเจตนาไถ่ถอนคืนมาให้นางน้อม การที่นางน้อมเอาที่ดินไปขาย ๗๐ ตารางวา และเอาไปจำนอง ๑๓๐ ตารางวาเป็นเรื่องของจำเลยจะไปว่ากล่าวต่างหาก ไม่เกี่ยวกับมรดกนางถนอมภรรยาของจำเลย ที่ดิน ๒๐๐ ตารางวาที่จำเลยกให้แก่นางนอมนั้นไม่ใช่มรดกของนางถนอมที่นางน้อมได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว มรดกนางถนอมยังไม่ได้แบ่งกันระหว่างทายาท จำเลยจึงต้องแบ่งให้นางน้อมตามกฎหมาย
พิพากษากลับ บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share