คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ท. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเมืองฮ่องกง ซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องเดชเซียวฮื่อยี่ ซึ่งได้นำออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในเมืองฮ่องกง โดย มิได้บรรยายว่าภาพยนตร์ ดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงมาด้วย การบรรยายว่าได้นำออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในเมืองฮ่องกงนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท์ จำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเมืองฮ่องกง ซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่อง “Chut Toi Sheung Kui” หรือชื่อภาษาไทยว่า”เดชเซียวฮื่อยี่ ” ภาพยนตร์ดังกล่าวได้นำออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในเมืองฮ่องกง เมืองฮ่องกงประเทศอังกฤษและประเทศไทยต่างเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ค.ศ. 1886 กรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 และพิธีสารเพิ่มเติม กรุงเบอร์น ค.ศ. 1914 ประเทศทั้งสองได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญา ภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526เมื่อระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2531 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยรู้อยู่แล้วว่าแถบบันทึกภาพและเสียงอันเป็นโสตทัศนวัสดุของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท์ จำกัด ได้นำแถบบันทึกภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวที่ได้ถูกทำซ้ำ ออกโฆษณา ออกให้เช่า เสนอให้เช่าแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อการค้าอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท์ จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 13, 24, 25, 27, 42, 44, 47, 49 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526มาตรา 3, 4 ให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ยกเว้นเอกสารการให้เช่าประจำม้วนเทปคืนเจ้าของและจ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาให้แก่ผู้เสียหายตามกฎหมายกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่า เมืองฮ่องกงมิได้เป็นภาคีของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่งานอันมีลิขสิทธิ์ของเมืองฮ่องกงจึงไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 44 วรรคสองจำคุก 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ม้วนวีดีโอเทปของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาให้แก่ผู้เสียหายกึ่งหนึ่งเอกสารการให้เช่าของกลางคืนเจ้าของ คำขออื่นให้ยกจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางคืนเจ้าของ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหามีว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 42 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยและกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ นี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา”แต่ฟ้องโจทก์บรรยายว่า บริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท์ จำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่อง เดชเซียวฮื่อยี่ ซึ่งได้นำออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในเมืองฮ่องกง โดย มิได้บรรยายว่าภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงมาด้วยการบรรยายว่าได้นำออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในเมืองฮ่องกงนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงแล้ว ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญา ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share