คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1293/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำด้วยหนังสือนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติไว้ 2 ประการ คือ ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง เมื่อฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถ้อยคำอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้ว แม้โจทก์จะไม่สามารถส่งเอกสารที่อ้างว่าเป็นการใส่ความโจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฟ้องโจทก์ก็ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วนแล้วเช่นกัน เมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง มิใช่เป็นการรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามสายงานจำเลยก็อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันทำบันทึกใส่ความโจทก์ต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรว่า โจทก์เป็นผู้สร้างระบบเผด็จการในการบริหารงานวางอำนาจใหญ่โต ออกกฎเกณฑ์หยุมหยิมโดยตนเองปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติงานข้ามขึ้นผู้บังคับบัญชา ออกคำสั่งแทนผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตนเองไม่มีอำนาจ สร้างความแตกแยกในวงราชการ ยุยงให้ข้าราชการแตกความสามัคคี ยุยงให้ผู้น้อยกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำตัวไม่เหมาะสมในด้านชู้สาวกับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งในทางส่วนตัวและในหน้าที่ราชการเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยจำเลยเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ถูกสอบสวนและต้องรับโทษทางวินัย และจำเลยร่วมกันนำบันทึกดังกล่าวซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จและจำเลยรู้ว่าเป็นความเท็จแจ้งต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมีเจตนาให้โจทก์ได้รับโทษทางวินัย ความจริงโจทก์มิได้ประพฤติปฏิบัติตามบันทึกที่จำเลยแจ้งไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งในทางส่วนตัวและในหน้าที่ราชการ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร ๑๓๗, ๓๒๖, ๑๒๘, ๓๓๒, ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยรัฐ” และ”เดลินิวส์” มีกำหนด ๑๕ วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นสั่งว่าให้ โจทก์ส่งเอกสารที่อ้างว่าเป็นการแจ้งความเท็จและใส่ความโจทก์ภายใน ๗ วันเพื่อประกอบในการสั่งฟ้องหากไม่ดำเนินการภายในกำหนดถือว่าทิ้งฟ้อง
ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องและส่งสำเนาเอกสารต่อศาลศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารที่อ้างว่าเป็นการแจ้งความเท็จและใส่ความโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) วรรคสอง แต่เอกสารที่โจทก์ส่งต่อศาลเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหนังสือของโจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในเอกสารไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดต่อโจทก์ดังฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยรายงานต่อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นการรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามสายงานเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต แต่ประการใด พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิด ๒ กระทง คือฐานหมิ่นประมาท และฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน คำฟ้องคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ
(๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง ฯลฯ” พิเคราะห์แล้วความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำด้วยหนังสือนั้น กฎหมายบัญญัติไว้ ๒ ประการด้วยกันกล่าวคือ ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง เห็นว่าแม้กฎหมายจะใช้ถ้อยคำว่าให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ แต่ในการบรรยายฟ้องโจทก์ก็หาจำต้องกล่าวทุกถ้อยคำแห่งตัวอักษรไม่ เพียงแต่กล่าวถ้อยคำอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทก็พอ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใส่ความโจทก์ว่าโจทก์สร้างระบบเผด็จการในการบริหารงาน ปฏิบัติงานข้ามขึ้นผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งแทนผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตนเองไม่มีอำนาจ สร้างความแตกแยกในวงราชการ ยุยงให้ผู้น้อยกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำตัวไม่เหมาะสมในด้านชู้สาวกับผู้ใต้บังคับบัญชา คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายถ้อยคำอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้ว แม้โจทก์จะไม่สามารถส่งเอกสารที่อ้างว่าเป็นการแจ้งความเท็จและใส่ความโจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ตาม ส่วนความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วนแล้วเช่นกัน ฟ้องโจทก์จึงถูกต้องตามกฎหมาย ข้อที่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามสายงานนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง มิใช่เป็นการรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามสายงาน จำเลยอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้องได้
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาพิพากษาต่อไป

Share