คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12893/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ลูกจ้างเพียงแต่ลงลายมือชื่อเพื่อรับทราบประกาศของโจทก์นายจ้างซึ่งห้ามมิให้พนักงานทั่วไปลาออกจากงานแล้วไปประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ หรือเข้าทำงานกับบุคคลใดอันมีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ภายในระยะเวลา 2 เดือน โดยไม่มีข้อความส่วนใดในประกาศฉบับดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว การลงลายมือชื่อลักษณะนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาให้ความยินยอมของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างออกประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ต้องปฏิบัติตาม

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานภาค 1 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 262/2550 ของศาลแรงงานกลางภาค 1 โดยให้เรียกโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยเรียงตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ คดีคงขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะหกสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ชำระเงินจำนวน 88,942 บาท 92,988 บาท 68,432 บาท 60,788 บาท 68,446 บาท และ 84,672 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ทำงานให้กับบริษัทสุขภัณฑ์ไฮโดร (ประเทศไทย) จำกัด และห้ามจำเลยที่ 5 ทำงานให้กับบริษัทโคห์เลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ กรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นลูกจ้างของโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานสร้างแม่พิมพ์ พนักงานฝ่ายผลิต และพนักงานหล่อแบบ โจทก์ประกาศเรื่องสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ห้ามมิให้พนักงานทั่วไปลาออกจากงานแล้วไปประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทโจทก์หรือเข้าทำงานกับบุคคลหรือนิติบุคคลใดอันมีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ภายในระยะเวลา 2 เดือน หากฝ่าฝืนต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2 เท่า ของอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาที่ผิดสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ลาออกจากบริษัทโจทก์แล้วสมัครเข้าทำงานกับบริษัทสุขภัณฑ์ไฮโดร (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโคห์เลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ประกาศ เรื่อง สัญญาจ้างแรงงานข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ เห็นว่า ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของนายจ้าง ซึ่งจะส่งผลผูกพันให้ลูกจ้างคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดต้องยึดถือปฏิบัติในลักษณะเดียวกับสัญญาจ้างแรงงานก็ต่อเมื่อ ฝ่ายลูกจ้างกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการแสดงเจตนายอมรับเงื่อนไขในประกาศดังกล่าวด้วยความสมัครใจ การที่ลูกจ้างเพียงแต่ลงลายมือชื่อเพื่อรับทราบประกาศ โดยไม่มีข้อความส่วนใดในประกาศฉบับดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่า ลูกจ้างยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงถือไม่ได้ว่าการลงลายมือชื่อของลูกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาให้ความยินยอม เมื่อนายจ้างออกประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กรณีจึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ลูกจ้าง ต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 จะลาออกจากบริษัทโจทก์แล้วไปสมัครเข้าทำงานกับบริษัทสุขภัณฑ์ไฮโดร (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโคห์เลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share