คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา(ก)

ย่อสั้น

คดีอาญา โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภายในกำหนดอายุความแล้ว แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดอายุความ ก็ต้องถือคดีเป็นอันขาดอายุความ จะนำเอาเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีในทางแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะ ป.อ. มาตรา 95 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว
ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 เมื่อได้ร้องทุกข์ไว้ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 96 แห่ง ป.อ. แล้ว ย่อมมีอายุความห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 95(4) เมื่อฟ้องจำเลยไว้ภายในอายุความแล้ว แต่เพิ่งได้ตัวจำเลยมาศาล เมื่อพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำผิด (วันที่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน) คดีเป็นอันขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยได้ออกเช็คให้โจทก์จริงตามฟ้อง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 โดยแจ้งว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย โจทก์จึงได้ร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจ และได้ยื่นฟ้องคดีนี้เอง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2505 แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแล้วก็ตาม แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ดีหรือในระหว่างพิจารณาคดีก็ดี โจทก์ไม่สามารถส่งหมายนัดและสำเนาฟ้อง รวมทั้งส่งหมายเรียกแก่จำเลยได้ เพราะไม่ทราบว่าจำเลยไปอยู่ที่ไหน โจทก์ให้ศาลประกาศให้จำเลยทราบทางหนังสือพิมพ์ แทนการส่งหมาย แต่ก็คงไม่มีตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2505 และสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2506 เพราะยังจับตัวจำเลยไม่ได้ ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2510 ตำรวจจึงจับจำเลยได้ และส่งตัวจำเลยมายังศาล เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2510 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาห้าปี นับแต่วันกระทำผิด คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 แล้ว
ปัญหาที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ฯลฯ
(4) ห้าปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี” ฉะนั้น นอกจากโจทก์จะได้ยื่นฟ้องจำเลยไว้ภายในกำหนดอายุความแล้ว ยังต้องได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดอายุความอีกด้วย คดีโจทก์จึงจะไม่ขาดอายุความ คดีนี้ เป็นคดีที่ฟ้องกล่าวหาขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว และมีอัตราระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว คดีจึงมีอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) และเรื่องนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความเท่านั้น แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมาพิจารณาภายในกำหนดอายุความ คือ ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 (คือ วันกระทำผิด) ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2506 ปรากฏว่าตำรวจจับจำเลยได้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2510 และส่งตัวมายังศาล เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2510 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ดังที่ศาลล่างพิพากษาต้องกันมานั้น ชอบแล้ว เมื่อประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ชัดแจ้งดังนี้ ที่โจทก์จะให้นำเอาเรื่องอายุความในทางแพ่งว่าคดีโจทก์ควรถืออายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share