คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12878/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างเดินทางไปร่วมกิจกรรมการเที่ยวประจำปีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจัดขึ้น จำเลยออกประกาศ “ห้ามลูกจ้างพูดจาที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือก่อการทะเลาะวิวาทระหว่างการเดินทาง โรงแรมที่พัก รวมทั้งสถานที่อื่น ๆ โดยเด็ดขาด มิฉะนั้นจะลงโทษโดยเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย” อันเป็นคำสั่งกำหนดการปฏิบัติตัวของลูกจ้างที่เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างก่อความเสียหายหรือความเสื่อมเสียแก่จำเลย ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการกระทำของลูกจ้างจะเป็นความผิดกรณีร้ายแรงหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกันหลายประการ อาทิ ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำความผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด เมื่อเกิดเหตุขึ้นบนรถบัสระหว่างเดินทางไปทำกิจกรรมการเที่ยวประจำปี ซึ่งแม้จะมีพนักงานของบริษัทที่รับจ้างจัดกิจกรรมการเที่ยวอยู่ด้วย แต่การที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานระดับทั่วไปทะเลาะวิวาทกันซึ่งแม้การชกต่อยพลาดไปถูกเพื่อนพนักงานคนอื่น แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายรุนแรง และโจทก์ทั้งสองหยุดทะเลาะวิวาทเมื่อถูกห้ามปราม กรณียังถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิดร้ายแรงที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119(4)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 1 มีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า ประกาศของจำเลย ที่ถือว่าการที่พนักงานก่อการทะเลาะวิวาทระหว่างเดินทางไปเที่ยวเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โดยจำเลยไม่ได้พิจารณาเหตุที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทแต่อย่างใด ประกาศดังกล่าวถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองจะลงชื่อรับทราบประกาศดังกล่าว จำเลยจะอ้างประกาศดังกล่าวมาเป็นเหตุให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองไม่ได้ ประกอบกันระหว่างเกิดเหตุไม่มีบุคคลใดได้รับบาดเจ็บและหลังจากมีการห้ามปรามโจทก์ทั้งสองก็ได้ยุติการทะเลาะวิวาท จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี พฤติการณ์ทะเลาะวิวาทของโจทก์ทั้งสองจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องว่ากล่าวตักเตือนหรือลงโทษอย่างอื่นก่อน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 75,192 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 72,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 12,219 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,765 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับว่า จำเลยออกประกาศเลขที่ เอสเคที 2555/668 เอ เรื่อง กำหนดการเที่ยวประจำปี 2555 โดยมีข้อ 4 ห้ามพนักงานพูดจาที่ก่อให้เกิดการทะเลาะหรือก่อการทะเลาะวิวาทระหว่างการเดินทาง โรงแรมที่พัก ทั้งสถานที่อื่นๆ โดยเด็ดขาด มิฉะนั้นจะลงโทษโดยการเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น โจทก์ทั้งสองลงชื่อรับทราบประกาศดังกล่าว โจทก์ทั้งสองกับเพื่อนพนักงานอื่นนั่งรถบัสคันเดียวกันเพื่อเดินทางร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวตามที่จำเลยจัดขึ้นพร้อมพนักงานของบริษัทซึ่งรับจ้างจัดกิจกรรม ระหว่างเดินทางโจทก์ที่ 1 อยู่ในอาการเมาสุราและอาเจียนลงมาบนพื้นรถ โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเพื่อนกับโจทก์ที่ 1 นำถุงพลาสติกไปให้ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ย่อมใช้กลับอาเจียนลงพื้นรถ โจทก์ที่ 2 ต่อว่าโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 เดินเข้าหาโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ผลักและชกโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ตอบโต้โดยชกโจทก์ที่ 2 แต่พลาดไปถูกนางสาวอัมพิกา เพื่อนพนักงานด้วยกัน ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับบาดเจ็บร้ายแรง หลังจากนั้นเพื่อนพนักงานจึงห้ามปรามและแยกโจทก์ทั้งสองให้ยุติการทะเลาะวิวาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ประกาศของจำเลยฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวถือเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าประกาศของจำเลยเป็นคำสั่งของนายจ้างที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างทั้งหลายรวมโจทก์ทั้งสองร่วมเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและต้องการป้องกันรักษาชื่อเสียงของจำเลยไม่ให้เสื่อมเสียและให้ลูกจ้างมีความสามัคคี ประกาศดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นวินัยขั้นพื้นฐานที่จำเลยในฐานะนายจ้างสามารถออกคำสั่งและประกาศให้ลูกจ้างทุกคนถือปฏิบัติได้ อันถือเสมือนเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การที่โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า ประกาศเลขที่ เอสเคที 2555/668 เอ เรื่อง กำหนดการเที่ยวประจำปี 2555 เป็นคำสั่งของจำเลยที่กำหนดการปฏิบัติตัวลูกจ้างที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมที่จำเลยจัดขึ้นทั้งเพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างไปก่อความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่จำเลย จึงถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และแม้โจทก์ทั้งสองก่อการทะเลาะวิวาทบนรถบัสซึ่งตามประกาศ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงก็ตามแต่การกระทำความผิดของลูกจ้างจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆประกอบกันหลายประการ อาทิ ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำความผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดว่ามีมากน้อยเพียงใด ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความเพียงว่าโจทก์ทั้งสองทะเลาะวิวาทระหว่างเดินทางไปร่วมกิจกรรมท่องเที่ยว การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นบนรถบัส แม้จะมีพนักงานของบริษัทรับจ้างจัดกิจกรรมอยู่ด้วย แต่การกระทำของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกแต่อย่างใด และเมื่อมีการห้ามปรามโจทก์ทั้งสองก็หยุดทะเลาะวิวาทกรณียังถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นความผิดร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (9) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองที่ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลแรงงานภาค 1

Share