คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5611/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 ออกใช้บังคับซึ่งมีที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ด้วยการดำเนินการต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ได้บัญญัติไว้ และในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนนั้นคณะกรรมการฯ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานั้นได้แต่งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับนั้นก็เป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปโดย มีกฎหมายรองรับอยู่โดยชอบแล้วในขณะนั้น จึงไม่เสียไปแต่อย่างใดแม้ต่อมาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะสิ้นอายุลง ดังนั้นการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนที่ได้ดำเนินการไปแล้วในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกายังมีผลใช้บังคับอู่จึงใช้ได้ไม่เสียไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมุกดา ทังสมบัติ ผู้ตาย ผู้ตายและโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 197941 เนื้อที่ 2 ไร่ 56 ตารางวา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่หนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ออกใช้บังคับ ให้จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน เมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 3 แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนและคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดค่าทดแทนค่าที่ดินให้โจทก์ทั้งสองคนละ 428,000 บาทซึ่งไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ทั้งสองไม่พอใจ จึงอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ขอค่าทดแทนค่าเวนคืนที่ดินตารางวาละ 20,000 บาทจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง เมื่อวันที่25 มีนาคม 2534 จนครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับหนังสืออุทธรณ์จากโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เพิกเฉย โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดินตารางละ 20,000 บาทคิดเป็นเงิน 17,120,000 บาท เมื่อหักกับเงินที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนแก่กองมรดกของนางสาวมุกดาและโจทก์ที่ 2 รวมกันแล้วเป็นเงิน 856,000 บาท คงเหลือค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับ16,264,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,520,917 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22,784,917 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 22,794,917 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ10.5 ต่อปี จากต้นเงิน 16,264,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การว่า เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืน ในท้องที่แขวงบางบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม2533 กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหนองบอนเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยเร่งด่วนเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือได้ใช้อสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนด้วยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้จ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ถึง 2534 ของกรมที่ดิน เนื่องจากที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ 2 ไร่ 56 ตารางวา มีสภาพทำเลใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่เหมาะที่จะใช้ประกอบธุรกิจการค้าขายจึงกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 500 บาท คิดเป็นเงินค่าทดแทนรวม 428,000 บาทโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนหากมีจึงเป็นเงินค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษาของศาล การจ่ายค่าทดแทนเพิ่มก็ต้องนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงต้องคิดตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 856,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531 มีกำหนด 4 ปี เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครอันเป็นผลให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 197941เนื้อที่ 856 ตารางวา ถูกเวนคืนทั้งแปลง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 500 บาทจำนวน 856 ตารางวา เป็นเงินทั้งสิ้น 428,000 บาท โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 3 แต่งตั้ง พิจารณาเพิ่มค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองใหม่จากเดิมตารางวาละ 500 บาทเป็นตารางวาละ 1,500 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสองเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดให้เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นจำนวนเดียวกันกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 1,500 บาท ต่ำเกินไปและไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมในปัญหาที่ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับเท่าใด โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่จะต้องเวนคืนมีหน้าที่นำสืบหากในวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนโจทก์ทั้งสองก็อาจนำสืบถึงราคาที่ซื้อขายที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองในวันใกล้ชิดกับวันที่ที่ดินถูกเวนคืนเป็นราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดมาใช้กำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองโดยถือตามราคาทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2531 ถึง 2534 ในราคาตารางวาละ 500 บาท และศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองเพิ่มจากเดิมตารางวาละ 500 บาท เป็นตารางวาละ 1,500 บาท เป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ได้คำนึงมาตรา 21(1) ถึง (5) ซึ่งถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มอีก
ข้อสุดท้ายที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ในประเด็นเรื่องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาที่ออกใช้บังคับแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสองสิ้นผลบังคับแล้วยังไม่มีการตราพระราชบัญญัติเพื่อการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกมารองรับการกำหนดราคาเบื้องต้นตามพระราชกฤษฎีกาย่อมสิ้นผลไปด้วย เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์ทั้งสองจะหยิบขึ้นมาให้ศาลวินิจฉัยเมื่อใดก็ได้ กรณีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม2535 ในขณะที่พระราชกฤษฎีกายังไม่หมดอายุ โจทก์ทั้งสองจึงมิได้นำมาเป็นประเด็นในขณะฟ้องคดีนี้ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาสิ้นผลบังคับเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เห็นว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ออกใช้บังคับซึ่งมีที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ด้วย การดำเนินการต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ได้บัญญัติไว้ กล่าวโดยเฉพาะก็คือ เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนนั้น คณะกรรมการฯ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานั้นแต่งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะใช้แก่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับนั้นก็เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปโดยมีกฎหมายรองรับอยู่โดยชอบแล้วในขณะนั้นจึงไม่เสียไปแต่อย่างใด ดังนั้นการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนที่ได้ดำเนินการไปแล้วในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกายังมีผลใช้บังคับอยู่จึงใช้ได้ไม่เสียไป
อนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสามต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยข้างต้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามส่วนจะได้รับอัตราเท่าใด ต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี คงที่จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 10.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share