คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12873/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง จะนำเอาวิธีพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณาและการขอพิจารณาคดีใหม่มาใช้บังคับในกรณีนี้โดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์สินที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบเป็นรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกในการส่งมอบยาเสพติดให้โทษอันเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและศาลได้ประกาศให้หนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นเป็นเวลา 2 วัน ติดต่อกันอันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา 30 วรรคสอง แล้ว หากผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางต้องการยื่นคำร้องขอคัดค้านจะต้องยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ของกลางแล้ว ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีในภายหลังเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่อีกได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องยื่นฟ้องนายทุเรียนและนางสาวธนาพร เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 441/2549 ของศาลชั้นต้นและในคดีดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน ปฉ 6475 กรุงเทพมหานคร เป็นของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เป็นยานพาหนะในการขับขี่เพื่อความสะดวกในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ขอให้ริบรถยนต์คันดังกล่าวตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ปฉ 6475 กรุงเทพมหานคร ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่ถูกริบโดยให้บุคคลอื่นเช่าซื้อไป ผู้คัดค้านไม่รู้จักจำเลยทั้งสอง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด ผู้คัดค้านไม่ทราบถึงคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่มีโอกาสยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์คดีนี้ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้คัดค้านมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้มีคำสั่งพิจารณาคดีใหม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าผู้คัดค้านมิได้จงใจที่จะไม่ต่อสู้คดี มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา คดีนี้ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำสั่งให้จำเลยทั้งสองแต่ไม่ได้ส่งให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้คัดค้านจึงไม่ทราบว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 ที่บัญญัติว่า “บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม” และวรรคสองบัญญัติว่า “ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้วให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง จะนำเอาวิธีพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการขาดนัดยื่นคำให้การขาดนัดพิจารณาและการขอพิจารณาคดีใหม่มาใช้บังคับในกรณีนี้โดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์สินที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบเป็นรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกในการส่งมอบยาเสพติดให้โทษอันเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและศาลได้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นเป็นเวลา 2 วัน ติดต่อกันอันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา 30 วรรคสองแล้ว หากผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางต้องการยื่นคำร้องคัดค้านจะต้องยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ของกลางแล้ว ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีในภายหลังเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่อีกได้ ข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่า มาตรา 23, 28 และ 32 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นทำนองว่าให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมและให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีหนังสือแจ้งให้ผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่พนักงานอัยการมีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 ที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27, 28 อันมีความหมายว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินคนละประเภทกับคดีนี้ จึงกำหนดวิธีดำเนินการที่แตกต่างกันและเฉพาะการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเท่านั้นที่ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลมแต่ไม่อาจนำมาใช้กับกรณีการร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 30 ได้ ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำคัดค้านและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share