คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12851/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อบริษัท ธ. ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของบริษัท ธ. ที่รวบรวมได้มาโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จึงเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้หาใช่เป็นการซื้อขายความไม่ การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งทวงหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะลูกหนี้ของผู้ล้มละลาย จำเลยที่ 2 แจ้งปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว เมื่อสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงถือว่าเป็นคดีความ การโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์จึงเป็นการซื้อขายความต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาขายสิทธิเรียกร้องจึงเป็นโมฆะทั้งสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ทำเป็นหนังสือตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 แถลงขอสละประเด็นตามคำให้การโดยให้ศาลชี้ขาดเพียงว่า หนังสือสัญญาขายสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์เป็นโมฆะหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 กันยายน 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนที่ยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงตามเอกสารและที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทเงินทุนธนมาศ จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ บริษัทเงินทุนธนมาศ จำกัด ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและนำออกขายได้ราคาเพียง 232,000 บาท ขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อ 131,558.89 บาท ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทเงินทุนธนมาศ จำกัด และพิพากษาให้ล้มละลาย วันที่ 2 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา เป็นเงิน 131,558.89 บาท จำเลยที่ 2 มีหนังสือปฏิเสธหนี้ดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดระยะเวลาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและนำออกประมูลขายตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ โจทก์ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ วันที่ 15 ธันวาคม 2547 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ ตามหนังสือสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง และโจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทเงินทุนธนมาศ จำกัด มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 และมีหนังสือทวงหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว ถือว่าอยู่ระหว่างการดำเนินคดี การโอนสิทธิเรียกร้องจึงเป็นการซื้อขายความ ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องย่อมตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า เมื่อบริษัทเงินทุนธนมาศ จำกัด ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนธนมาศ จำกัด ที่รวบรวมได้มาโดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จึงเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้หาใช่เป็นการซื้อขายความไม่ การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share