แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้แทนนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดตามมาตรา 7 ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการนี้ย่อมหมายรวมถึงอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในเขตจังหวัดที่อยู่ในความดูแล ตลอดจนมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามสิทธิและหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 66 และ 67 ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการทำโดยละเมิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่จำต้องรับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดอีก
เหตุที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะจำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ โดยที่ดินดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีวัตถุประสงค์สร้างเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการตามโครงการก่อสร้างสนามกีฬาของโจทก์ ซึ่งย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่อาจนำออกให้เช่าตามคำขอเช่าของจำเลยได้เพราะขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์มีเหตุที่ไม่อาจให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตามคำขอเพราะต้องนำที่ดินไปสร้างเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการตามโครงการก่อสร้างสนามกีฬาของโจทก์ มิใช่เรื่องโจทก์ไม่ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยไม่มีเหตุผลรองรับซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ในทางตรงกันข้ามการที่จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคทำให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย การใช้สิทธิทางศาลของโจทก์จึงชอบแล้ว หาใช่เป็นเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย 1,746,000 บาท เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ด้วย อัตราค่าขึ้นศาลตาราง 1 (3) ท้าย ป.วิ.พ. ให้คิดค่าขึ้นศาลตามอัตราคดีที่มีทุนทรัพย์ แต่ไม่ให้น้อยกว่าอัตราค่าขึ้นศาลในส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์แล้วแต่กรณี เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 8,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์และฎีกาในส่วนที่มีทุนทรัพย์ของจำเลยจึงมีจำนวน 8,000 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาลตามตาราง (1) (ก) เป็นเงิน 160 บาท ซึ่งน้อยกว่าค่าขึ้นศาลในส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์ที่ตาราง (2) (ก) กำหนดไว้ 200 บาท จำเลยจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าเป็นเงินชั้นศาลละ 200 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในท้องที่ตำบลรัษฎา และตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 1 งาน 31 ตารางวา ของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 1,746,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 1 งาน 31 ตารางวา ตามสำเนาแผนที่ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 8,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน 31 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ที่กระทรวงมหาดไทยประกาศมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้จัดหาผลประโยชน์จากการให้เช่าตั้งศูนย์ราชการกับบ้านพักและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่จำเลยปลูกบ้านพักอาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยมิได้เป็นผู้เช่ากับโจทก์
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยอ้างเหตุบกพร่องในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ประการแรกว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของรัฐรวมทั้งที่ดินพิพาท แม้กระทรวงมหาดไทยจะมีประกาศให้จำเลยเป็นผู้จัดหาผลประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่มิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยตรง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้แทนนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดในเขตจังหวัดตามมาตรา 7 ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการนี้ย่อมหมายรวมถึงอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในเขตจังหวัดที่อยู่ในความดูแล ตลอดจนมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามสิทธิและหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 และ 67 ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการทำโดยละเมิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่จำต้องรับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดอีก ฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างเหตุบกพร่องในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยโดยไม่สุจริต เพราะไม่ดำเนินการให้จำเลยเช่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ให้เอกชนเช่าตามที่จำเลยมีคำขอเช่าโดยปราศจากเหตุผล จงใจให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยนั้น เห็นว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะจำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ โดยที่ดินดังกล่าวโจทก์อ้างว่ามีวัตถุประสงค์สร้างเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการตามโครงการก่อสร้างสนามกีฬาของโจทก์ ซึ่งย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่อาจนำออกให้เช่าตามคำขอเช่าของจำเลยได้เพราะขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า กระทรวงมหาดไทยมีประกาศเป็นอย่างอื่นให้ที่ดินพิพาทเป็นเขตให้เอกชนเช่า ไม่ใช่ตามวัตถุประสงค์ที่โจทก์อ้างนั้น เท่ากับเป็นการโต้แย้งประเด็นพิพาทซึ่งเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยมีสิทธิโดยชอบที่จะขอเช่าที่ดินพิพาทต่อโจทก์ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในฎีกา ข้อ 2 (ก) และ (ข) ของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง และมีคำสั่งไม่รับข้อฎีกาของจำเลยในส่วนนี้โดยจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ และข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์มีเหตุที่ไม่อาจให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตามคำขอเพราะต้องนำที่ดินไปสร้างเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการตามโครงการก่อสร้างสนามกีฬาของโจทก์ มิใช่เรื่องโจทก์ไม่ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยไม่มีเหตุผลรองรับซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ในทางตรงกันข้ามการที่จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นอุปสรรคทำให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย การใช้สิทธิทางศาลของโจทก์ จึงชอบแล้ว หาใช่เป็นเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่ชำระเกินไปนั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย 1,746,000 บาท เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ด้วย อัตราค่าขึ้นศาลตาราง 1 (3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้คิดค่าขึ้นศาลตามอัตราคดีที่มีทุนทรัพย์ แต่ไม่ให้น้อยกว่าอัตราค่าขึ้นศาลในส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์แล้วแต่กรณี เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 8,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์และฎีกาในส่วนที่มีทุนทรัพย์ของจำเลยจึงมีจำนวน 8,000 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาลตามตาราง (1) (ก) เป็นเงิน 160 บาท ซึ่งน้อยกว่าค่าขึ้นศาลในส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์ที่ตาราง (2) (ก) กำหนดไว้ 200 บาท จำเลยจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามส่วนที่ไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าเป็นเงินชั้นศาลละ 200 บาท ที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ 35,120 บาท และชั้นฎีกา 34,920 บาท จึงเป็นการชำระเกินไปทั้งสองศาล เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 34,920 บาท ให้จำเลยตามคำขอ รวมตลอดจนถึงค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 34,720 บาท ให้จำเลยไปพร้อมกันด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น สำหรับค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ชำระมานั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอันเป็นค่าเสียหายอนาคตแต่อย่างใด ที่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลอนาคตตามตาราง 1 (4) มา 100 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินไปเช่นกัน เห็นควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนนี้ให้โจทก์ด้วย
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่ชำระเกินไป 100 บาท ให้โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่ชำระเกินไปรวม 69,640 บาท ให้จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ