คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12852/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 3 นิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ หมายถึง เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลและให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดวันที่ 23 เมษายน 2552 ภายหลังจากวันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องมาให้ครบถ้วนว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นไปตามคำนิยามในกฎกระทรวงด้วย เพราะถือว่ากำลังแรงม้าและขนาดความยาวของแผ่นบังคับโซ่เป็นข้อสาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องมือที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวเกินกว่า 12 นิ้ว ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีรายละเอียดพอสมควรไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ กำหนดให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบ หรือในกรณีที่ศาลมิได้มีคำสั่งริบของกลางหรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้ศาลมิได้สั่งริบของกลางและมิได้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาทั้งสองข้อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 54, 69, 72 ตรี, 73, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2, 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด และให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของโดยรู้แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2), 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2), 35 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2), 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2), 35 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม ยึดถือ ครอบครอง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เกินกว่า 20 ต้น ปริมาตรไม้เกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายเกินกว่า 20 ต้น ปริมาตรไม้เกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับฐานร่วมกันซ่อนเร้น จำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ไม่ได้เสียภาษี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันทำไม้หวงห้าม ยึดถือ ครอบครอง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม ยึดถือ ครอบครอง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายเกินกว่า 20 ต้น ปริมาตรไม้เกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จำเลยที่ 3 นำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละหนึ่งในสาม และจำเลยที่ 3 หนึ่งในสี่ ส่วนฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวาร ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละยี่สิบห้าตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ความผิดฐานร่วมกันทำไม้ จำคุกคนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดฐานทำไม้ จำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี 4 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 8 เดือน และบวกโทษจำคุกฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมจำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 14 เดือน สำหรับจำเลยที่ 3 ลดโทษหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งคู่ความไม่ได้อุทธรณ์ จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประการแรกว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีเหตุมีผล ไม่ได้มีพิรุธน่าสงสัย สามารถยืนยันให้รับฟังข้อเท็จจริงได้อย่างแน่ชัดว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 เข้าไปแผ้วถางป่าในบริเวณที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับนางบังอร และจำเลยที่ 1 เข้าไปแผ้วถางป่าในที่เกิดเหตุจริงเช่นนี้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยการจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคแรก จำเลยที่ 3 จึงกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 กับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้าม ยึดถือ ครอบครอง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ แต่เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 3 เพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 กับพวก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดดังกล่าวมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 3 ไปว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้หาคนมาถางป่าในที่เกิดเหตุตามที่เจ้าของที่ดินที่เกิดเหตุขอให้ช่วยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเพียงเท่านี้ ย่อมไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ในข้อหาร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามฟ้องโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดดังกล่าวมานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากจำนวนไม้หวงห้ามของกลาง ปรากฏว่ามีจำนวนมากถึง 25 ท่อน ปริมาตรรวมมากถึง 6.22 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่าเป็นไม้จำนวนมาก โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดไว้นั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากอยู่แล้ว การทำไม้อันเป็นการทำลายป่าสงวนแห่งชาติ โดยตัดฟันไม้หวงห้ามจำนวนมากเช่นนี้ นับเป็นการทำลายทรัพยากรอันมีค่าของชาติ ส่งผลเสียหายแก่ส่วนรวมเป็นอย่างมากพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รอการลงโทษให้ เหมาะสมกับความผิดของจำเลยที่ 3 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา 3 นิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ไว้ หมายถึง เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลและให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดวันที่ 23 เมษายน 2552 ภายหลังจากวันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องมาให้ครบถ้วนว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นไปตามคำนิยามในกฎกระทรวงด้วย เพราะถือว่ากำลังแรงม้าและขนาดความยาวของแผ่นบังคับโซ่เป็นข้อสาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องมือที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวเกินกว่า 12 นิ้ว ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีรายละเอียดพอสมควรไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถ ลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ กำหนดให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบ หรือในกรณีที่ศาลมิได้มีคำสั่งริบของกลางหรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้ศาลมิได้สั่งริบของกลางและมิได้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาทั้งสองข้อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย คงให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดฐานทำไม้ฯ เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสี่แล้ว จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 12 เดือน ฐานรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 เดือน รวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 11 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยกคำขอให้จ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share