คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะพาจำเลยที่ 2 ผ่านหน้าบ้านผู้เสียหายไปประมาณ 300 เมตร แล้วจอดรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกลงจากรถเดินย้อนกลับไปปล้นทรัพย์ที่บ้านผู้เสียหาย ส่วน จำเลยที่ 1 ขับรถอ้อมไปอีกทางไปจอดรถรอรับจำเลยที่ 2 กับพวก ห่างบ้านผู้เสียหายประมาณ 1 กิโลเมตร หลังจากจำเลยที่ 2 กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้วได้มาขึ้นรถจำเลยที่ 1 ตามที่ นัดแนะกันไว้ จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถพาจำเลยที่ 2 กับพวก หลบหนีไปแต่ขณะจำเลยที่ 2 กับพวกทำการปล้นทรัพย์อยู่ที่ บ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างขับรถอ้อมมาและจอดรถห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 2 กับพวกได้ จึง ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียง การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในการ ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายก่อนกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิด ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น และเมื่อจำเลยที่ 1ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีอาวุธติดตัวไปด้วย จึงไม่อาจ ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสองได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 เพียงขับรถมาส่งจำเลยที่ 2 กับพวกห่างบ้าน ผู้เสียหายประมาณ 300 เมตร แล้วขับรถอ้อมไปจอดรอรับจำเลยที่ 2 กับพวกห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเพียง การใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุมเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ ใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดด้วย แม้ปัญหาดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสีย ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83 กับริบรถยนต์ของกลาง และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นอกจากหัวเครื่องจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรม รวมราคา 29,350 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง กับให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1238/2536 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 12 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1238/2536 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ กับคืนหัวเครื่องจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมของกลางแก่เจ้าของและให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคา 29,350 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง 83 ประกอบมาตรา 340 ตรี ให้จำคุกคนละ 18 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกคนละ 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2536 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 3 คน มาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองแล้วร่วมกันปล้นเอาสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท 1 เส้น ราคา 15,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 2 สลึง 1 เส้น ราคา 6,000 บาท หัวเครื่องจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรม 1 อัน ราคา 10,000 บาท เตารีดไฟฟ้า 1 เครื่อง ราคา 350 บาท แว่นกันแดด 1 อัน ราคา 1,000 บาท ธนบัตร 7,000 บาท รวมเป็นเงิน 39,350 บาท ของผู้เสียหายทั้งสองไป โดยพวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนพกขู่ผู้เสียหายทั้งสองและใช้อาวุธปืนพกตีผู้เสียหายที่ 2 ศีรษะแตกส่วนจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดขู่ผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันจับผู้เสียหายที่ 1 ไปเป็นตัวประกันประมาณ 50 เมตร จึงปล่อยผู้เสียหายที่ 1 แล้วหลบหนีไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกาขณะผู้เสียหายทั้งสองอยู่ที่หน้าบ้าน เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะสีขาวดำแล่นผ่านหน้าบ้านไป ที่กระบะหลังมีผู้ชายนั่งอยู่ 2 คน หลังเกิดเหตุเวลา 19 นาฬิกาเศษ นายทองแดง ทองมี มาบอกว่าเมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา มีรถยนต์กระบะสีขาวคาดดำแล่นมาจอดที่หน้าบ้านนายทองแดงมีชาย 4 คน ลงจากรถแล้วไปซุ่มอยู่ที่พุ่มไม้ จากนั้นเดินมาทางบ้านผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนรถดังกล่าวแล่นหายไป ผู้เสียหายทั้งสองคิดว่าชาย 4 คน ที่ลงจากรถของจำเลยที่ 1 คือคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสอง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองผู้เสียหายทั้งสองจึงเล่าเรื่องให้ฟัง และมีนายทองแดง ทองมี นางเฉลียว ทองมี ภริยานายทองแดง และนายบุญเลิศ ทองมี บุตรนายทองแดง เบิกความตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา มีรถยนต์กระบะสีขาวคาดดำแล่นมาจากทางบ้านผู้เสียหายทั้งสองมาจอดตรงข้ามห้างเลี้ยงวัวของพยานทั้งสามซึ่งอยู่ห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 3 เสาไฟฟ้า มีชาย 4 คน ลงจากรถข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามส่วนรถแล่นออกไป จากนั้นชายทั้งสี่ข้ามถนนกลับมาแล้วเดินไปทางบ้านผู้เสียหายทั้งสองนายบุญเลิศขับรถจักรยานยนต์ตามไปดูแต่ไม่พบ หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงมีชาวบ้านมาบอกว่าผู้เสียหายทั้งสองถูกจี้นายทองแดง และนายบุญเลิศจึงไปที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองนายทองแดงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ผู้เสียหายทั้งสองฟังกับมีพันตำรวจโทวิรัช เบ้าคำ พนักงานสอบสวนเบิกความว่าในวันเกิดเหตุเวลา 19.30 นาฬิกา พยานได้รับแจ้งจากสายตรวจว่ามีเหตุปล้นทรัพย์ที่บ้านผู้เสียหายทั้งสอง จึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุพยานสอบปากคำผู้เสียหายทั้งสองได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองอยู่ที่หน้าบ้าน เห็นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 แล่นผ่านไปจำหมายเลขทะเบียนได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยนำตู้เสื้อผ้ามาให้เย็บ หลังจากนั้นมีคนร้าย4 คน เข้ามาปล้นผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายทั้งสองสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายด้วย และปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 2 เอกสารหมาย จ.7 ว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2536 ผู้เสียหายที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองเห็นรถยนต์กระบะสีขาวคาดดำยี่ห้อนิสสันบิคเอ็ม หมายเลขทะเบียน ป – 2634 เพชรบูรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยนำตู้พลาสติกมาจ้างเย็บ แล่นผ่านหน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสองไปช้า ๆ เห็นชาย 2 คน นั่งอยู่ที่ขอบกระบะ ส่วนคนในรถข้างหน้ามองไม่เห็น ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าก่อนเกิดเหตุมีรถยนต์กระบะสีขาวคาดดำแล่นผ่านหน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสองไปจอดที่หน้าห้างเลี้ยงวัวของนายทองแดงมีจำเลยที่ 2 กับพวกอีก 3 คนลงจากรถดังกล่าว แล้วรถดังกล่าวแล่นออกไปจากนั้นจำเลยที่ 2 กับพวกไปปล้นบ้านผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนที่ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถดังกล่าวนั้นไม่น่าเชื่อเพราะหากผู้เสียหายทั้งสองเห็นจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถดังกล่าว ผู้เสียหายทั้งสองก็น่าจะแจ้งพันตำรวจโทวิรัชเมื่อพันตำรวจโทวิรัชไปสอบปากคำผู้เสียหายทั้งสองที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถดังกล่าว และในชั้นสอบสวนผู้เสียหายที่ 2 ก็ให้การว่ามองไม่เห็นคนในรถที่นั่งข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 ถูกจับได้ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอชุมแสง พันตำรวจโทวิรัชเบิกความว่า ได้แจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าปล้นทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.16 ว่าเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า ในวันเกิดเหตุนายอ้วนชวนจำเลยที่ 1 ไปปล้น จำเลยที่ 1ขับรถยนต์กระบะพานายอ้วน นายทวน นายถวิล นายนงค์ และจำเลยที่ 2ไป เมื่อผ่านหน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสองไปประมาณ 200 ถึง 300 เมตร จำเลยที่ 1 จอดรถ นายทวนนัดว่าอีก 30 นาที ให้ไปรับห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ขับรถอ้อมไปจนอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงบ้านผู้เสียหายทั้งสองจึงเลี้ยวรถกลับแล้วจอดรถซุ่มรออยู่ประมาณ 10 นาที นายถวิลแบกหัวจักรเดินมากับพวก จำเลยที่ 1 ขับรถพานายถวิลกับพวกหนีไป นอกจากนี้ยังได้ความจากพันตำรวจโทวิรัชว่าในวันที่ไปจับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นหัวเครื่องจักรเย็บผ้าซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกนำไปซ่อนไว้ที่บริเวณทุ่งนาในเขตอำเภอชุมแสง โดยใส่ไว้ในถุงปุ๋ย แล้วนำไปวางไว้บนต้นไม้ห่างบ้านนายบัณฑิตหรือสถิต โตม่วง ประมาณ 100 เมตร ซึ่งผู้เสียหายทั้งสองก็ยืนยันว่าหัวเครื่องจักรเย็บผ้าที่ยึดมานั้นเป็นของผู้เสียหายทั้งสอง สำหรับรถยนต์กระบะสีขาวคาดดำของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 นำไปเปลี่ยนสีที่อู่รถ แต่ทางอู่ยังไม่ได้ทำให้เพียงแต่ลอกสติกเกอร์กับถอดอุปกรณ์บางอย่างออกเพื่อเตรียมเปลี่ยนสีแล้ว จึงเป็นพิรุธให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 นำรถของตนไปเปลี่ยนสีใหม่เพื่อจะได้มีข้ออ้างว่ารถของตนไม่ใช่รถสีขาวคาดดำอย่างรถของคนร้าย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า พยานโจทก์ไม่เห็นรถยนต์กระบะคันที่จอดส่งชาย 4 คน ลงที่หน้าห้างเลี้ยงวัวของนายทองแดงแล่นย้อนกลับมา แสดงว่าคนขับรถดังกล่าวกับชายทั้งสี่มิได้เป็นพวกเดียวกันนั้น เห็นว่าตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.16 จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า เมื่อจำเลยที่ 1 จอดรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกลงจากรถแล้ว นายทวนนัดว่าอีก 30 นาที ให้ไปรับห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ขับรถอ้อมไปจนอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงบ้านผู้เสียหายทั้งสองจึงเลี้ยวรถกลับแล้วจอดรถซุ่มรออยู่ประมาณ 10 นาที นายถวิลแบกหัวจักรเดินมากับพวก จำเลยที่ 1 ขับรถพานายถวิลกับพวกหนีไป ดังนั้นที่พยานโจทก์ไม่เห็นรถคันดังกล่าวย้อนกลับมาก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถย้อนกลับ แต่ได้ขับรถอ้อมไปรับจำเลยที่ 2 กับพวกอีกทางหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าพนักงานสอบสวนทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1ขึ้นเองแล้วบังคับขู่เข็ญให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านพันตำรวจโทวิรัชพนักงานสอบสวนถึงเรื่องนี้ ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1จำชื่อจำหน้าเจ้าพนักงานตำรวจคนที่ขู่บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักและที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อในบัญชีของกลาง หากจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดของกลางก็น่าจะให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในบัญชีของกลางด้วย เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงชื่อในบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.18ซึ่งเป็นเรื่องการยึดรถยนต์กระบะสีขาวคาดดำของจำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ลงลายมือชื่อในบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืนเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นหัวเครื่องจักรเย็บผ้าที่จำเลยที่ 1 กับพวกปล้นมาจากบ้านเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 ก็นำสืบรับว่าจำเลยที่ 1 นำรถดังกล่าวไปซ่อมเพื่อปะผุ การที่จำเลยที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.18 จึงมิได้เป็นเรื่องสำคัญพยานโจทก์ทุกปากไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะแกล้งใส่ร้ายปรักปรำจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะพาจำเลยที่ 2 ผ่านหน้าบ้านผู้เสียหายทั้งสองไปประมาณ 300 เมตร แล้วจอดรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกลงจากรถเดินย้อนกลับไปปล้นทรัพย์ที่บ้านผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถอ้อมไปอีกทางไปจอดรถรอรับจำเลยที่ 2 กับพวกห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ1 กิโลเมตร หลังจากจำเลยที่ 2 กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองแล้วได้มาขึ้นรถจำเลยที่ 1 ตามที่นัดแนะกันไว้ จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถพาจำเลยที่ 2 กับพวกหลบหนีไป พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะจำเลยที่ 2 กับพวกทำการปล้นทรัพย์อยู่ที่บ้านผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างขับรถอ้อมมาและจอดรถห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 1 กิโลเมตรจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 2 กับพวกได้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2กับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองด้วยการกระทำของจำเลยที่ 1เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองก่อนกระทำความผิด จำเลยที่ 1จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีอาวุธติดตัวไปด้วย จึงไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ได้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดและเพื่อให้พ้นจากการจับกุมนั้นศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 เพียงขับรถมาส่งจำเลยที่ 2 กับพวกห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 300 เมตร แล้วขับรถอ้อมไปจอดรอรับจำเลยที่ 2 กับพวกห่างบ้านผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 1 กิโลเมตร จึงเป็นเพียงการใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุม มิได้เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด แม้ปัญหาดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1จะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคหนึ่ง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 86 ลงโทษ จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share