คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.6)ไว้ต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับมอบหมายให้รับแจ้งแบบสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแก้ไขแบบ ภ.บ.ท.6 นี้ โดยลบชื่อโจทก์ในช่องผู้ชี้เขตออก แล้วจำเลยที่ 2 เขียนชื่อจำเลยที่ 1 ลงแทนชื่อโจทก์ และลบลายมือชื่อโจทก์ที่ลงไว้ในช่องผู้ชี้เขต ผู้ยื่น ออก แล้วจำเลยที่ 1พิมพ์ลายนิ้วมือของตนลงแทน เมื่อดูเอกสารที่ถูกแก้ไขนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่า เอกสารฉบับนี้ได้เปลี่ยนสภาพเป็น ภ.บ.ท.6 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่น ซึ่งตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือที่แท้จริงที่จำเลยที่ 1 ได้ลงเป็นผู้ยื่นไว้ ไม่มีทางให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อในเรื่องชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1 เป็นอย่างอื่นไปได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันปลอมแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับมอบหมายให้รับแจ้งแบบสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลบชื่อโจทก์ในช่องผู้ชี้เขต และลบลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้ชี้เขต-ผู้ยื่น ออก แล้วจำเลยที่ 2 เขียนชื่อจำเลยที่ 1 ลงแทนชื่อโจทก์พร้อมทั้งจำเลยที่ 1 ได้พิมพ์ลายมือของตนในช่องผู้ชี้เขต-ผู้ยื่นแทนชื่อโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตากฟ้าหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ต่อมาจำเลยร่วมกันใช้เอกสารแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่อันเป็นเอกสารปลอมดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตากฟ้าทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 83 จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขแบบ ภ.บ.ท.(เอกสาร จ.1) ที่โจทก์ยื่นต่อจำเลยที่ 2 ไว้ โดยลบชื่อโจทก์ในช่องผู้ชี้เขตออก แล้วจำเลยที่ 2 เขียนชื่อจำเลยที่ 1 ลงแทนชื่อโจทก์และลบลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้ชี้เขต-ผู้ยื่น ออก แล้วจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือของตนลงแทนนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูเอกสาร จ.1 ซึ่งถูกแก้ไขดังกล่าวตลอดแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเอกสารฉบับนี้ได้เปลี่ยนสภาพเป็นแบบ ภ.บ.ท.6 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่น ซึ่งตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือที่แท้จริงที่จำเลยที่ 1 ได้ลงเป็นผู้ยื่นไว้ ไม่มีทางให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือเจ้าพนักงานหลงเชื่อในเรื่องชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1 เป็นอย่างอื่นไปได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

พิพากษายืน

Share