แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นการซื้อเหมาจำนวนทรัพย์ที่จะซื้อขายมีจำนวนแน่นอนไม่จำเป็นต้องมีการตรวจนับอย่างใดอีกฉะนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายกันย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน ส่วนเรื่องการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์
การที่รถยนต์ที่ซื้อขายถูกยึดและเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างการยึด โดยผู้รับรักษาปล่อยให้ตากแดดฝนและไม่ดูแลรักษาให้ดีและรถกลายสภาพเป็นเศษเหล็กไปนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับรักษาทรัพย์ จะปรับว่าเป็นความผิดของผู้ขายไม่ได้
ตามสัญญาซื้อขาย ผู้ขายจะต้องจัดการโอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยเสร็จสิ้นก่อน จึงจะมีสิทธิรับเงินงวดที่ 2 แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้ซื้อทราบว่าผู้ขายเป็นหนี้ ก. กลัว ก. จะยึดเอารถไป ผู้ซื้อจึงได้จัดการขายไปอย่างรถไม่มีทะเบียน ส่วนรถที่เหลือก็มีสภาพเป็นเศษเหล็ก ไม่สามารถทำการโอนทะเบียนกันอย่างรถยนต์ธรรมดาได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำการโอนทะเบียนต่อไป และไม่ใช่ความผิดของผู้ขายผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ยังค้างอยู่ให้แก่ผู้ขาย
ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคสองประกอบด้วยอนุมาตรา (1) เป็นเรื่องของอายุความที่จะใช้บังคับแก่บุคคลที่เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าขายสินค้าพ่อค้าตามความหมายของมาตรา 165 หมายถึงบุคคลที่ประกอบกิจการค้าโดยซื้อสินค้ามาและขายไปเป็นปกติธุระโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าโดยค้าไม้แปรรูปและน้ำตาล ทรัพย์ที่ทำการซื้อขายกันในคดีนี้ ไม่ได้เป็นสินค้าที่โจทก์ทำการค้าและไม่ใช่วัตถุประสงค์ในกิจการค้าของโจทก์ด้วย จะถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้ารถยนต์และอุปกรณ์ไม่ได้การที่โจทก์ขายรถยนต์ให้แก่จำเลย ต้องถือว่าโจทก์ได้ขายไปในฐานะอย่างเจ้าของทรัพย์ธรรมดา ไม่ใช่ในฐานะเป็นพ่อค้าขายสินค้านั้น ๆจะนำเอาอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 165 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ต้องนำเอาอายุความทั่วไปตามมาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปีมาใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อรถยนต์มีเครื่องกว้าน ฯลฯ ที่ใช้ไม่ได้ที่มีอยู่ในโรงเลื่อยจักรและโรงน้ำตาลของโจทก์เป็นราคา 310,000 บาท ชำระในวันทำสัญญาแล้ว 110,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะจ่ายให้เป็น 2 งวด ๆ ละ 100,000 บาท แต่รถยนต์ราคา 30,000 บาท ได้ถูกตำรวจจับและยึดไว้ จำเลยจึงค้างชำระราคา 170,000 บาท ฯลฯ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 211,060.50 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์คดีโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ทางพิจารณาได้ความว่าบริษัทโจทก์จ้างให้นายถนอมศักดิ์เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการประนอมหนี้ของบริษัทโจทก์ และมอบอำนาจให้จัดการขายทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ด้วย นายสิบเจ๋าทราบว่าบริษัทโจทก์จะขายรถยนต์และอุปกรณ์พร้อมทั้งเศษเหล็กและถังน้ำมันจึงได้ไปดู แต่นายสิบเจ๋าไม่มีเงินพอที่จะซื้อ จึงได้ไปเข้าหุ้นกับจำเลยนี้ และได้ไปติดต่อกับนายถนอมศักดิ์ทำสัญญาซื้อขายกัน โดยนายถนอมศักดิ์แทนบริษัทโจทก์ และจำเลยเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายตามสัญญาหมาย ล.1 เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้วนายถนอมศักดิ์ให้นายสิบเจ๋าถือสัญญาไปรับของที่โรงเลื่อย นายสิบเจ๋าได้ขอร้องให้นายประยูรกรรมการของบริษัท โจทก์คนหนึ่งนำของไปส่งให้ที่ปั๊มน้ำมันของนายปลอด ต่อมาอีก 4 – 5 วัน นายประยูรจึงให้คนนำรถไปส่งที่ปั๊มน้ำมันนายปลอด 4 คัน และรุ่งขึ้นอีก4 คันโจทก์ถูกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลรัตนยนต์โดยนายกิ้มฮวดหุ้นส่วนผู้จัดการฟ้องล้มละลายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2505 และในวันนั้นเองศาลได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์ชั่วคราว นายกิ้มฮวดได้พบนายสิบเจ๋าและบอกแก่นายสิบเจ๋าว่ารถยนต์ที่นายสิบเจ๋าซื้อไว้นั้นเป็นของบริษัทโจทก์ เขาเป็นเจ้าหนี้บริษัทโจทก์อยู่ เงินที่ยังไม่ได้ชำระนั้นให้ชำระแก่เขา แต่นายสิบเจ๋าไม่ยอม จำเลยก็บอกว่าให้รีบเอารถยนต์ 8 คันที่รับไว้นั้นไปขายเอาเงินทุนเสียก่อน นายสิบเจ๋าจึงได้จัดการขายรถทั้ง 8 คันนั้นไปโดยไม่ต้องมีการโอนทะเบียนกัน ต่อมานายประยูรให้คนนำรถไปส่งให้จำเลยที่ปั๋มน้ำมันนายปลอดอีก 5 คัน และสาลี่ 6 อัน ก็มีเจ้าพนักงานศาลจังหวัดระยองมาทำการยึดทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์และให้จำเลยนำเงินที่ยังค้างชำระไปชำระ แต่จำเลยเห็นว่าทรัพย์ที่ถูกยึดไว้นั้นได้กลายสภาพเป็นเศษเหล็ก มีราคาไม่คุ้มกับเงินที่จำเลยจะต้องชำระ จำเลยจึงไม่ยอมรับเอาทรัพย์ที่ถูกยึดนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า การซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น เป็นการซื้อเหมาและจำนวนทรัพย์ที่จะซื้อขายมีจำนวนแน่นอนไม่จำเป็นต้องมีการตรวจนับแต่อย่างใดอีก ฉะนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายกันนี้ ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อทำสัญญาซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 แล้ว ส่วนเรื่องการส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ได้มีการรับมอบทรัพย์ที่ซื้อขายกันแล้ว และเห็นว่าการที่ทรัพย์นั้นถูกยึดและเกิดเสียหายขึ้นในระหว่างการยึดทรัพย์ โดยผู้รับรักษาทรัพย์ปล่อยให้ตากแดดฝนและไม่ดูแลรักษาให้ดี ทำให้อุปกรณ์บางอย่างสูญหายไป และรถก็กลายสภาพเป็นเศษเหล็กไปนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับรักษาทรัพย์จะปรับว่าเป็นความผิดของโจทก์ไม่ได้ โจทก์ไม่จำต้องรับผิดต่อจำเลยแต่อย่างใด
ตามสัญญาหมาย ล.1 ข้อ 4 โจทก์จะต้องจัดการโอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยเสร็จสิ้นก่อนจึงจะมีสิทธิรับเงินงวดที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะมีการตกลงกันไว้เช่นนั้นก็จริง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อจำเลยทราบว่าบริษัทโจทก์เป็นหนี้นายกิ้มฮวดกลัวนายกิ้มฮวดจะยึดเอารถไป จำเลยจึงได้จัดการขายรถยนต์ 8 คัน ที่นายประยูรนำมาส่งให้ผู้อื่นไปอย่างรถไม่มีทะเบียนแล้ว ส่วนรถที่เหลือนั้น บัดนี้ก็มีสภาพเป็นเศษเหล็ก ไม่สามารถที่จะทำการโอนทะเบียนกันอย่างรถยนต์ธรรมดาได้ จึงเห็นได้ว่าในขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการโอนทะเบียนต่อไปแล้ว และไม่ใช่ความผิดของโจทก์ ฉะนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องชำระราคาที่ยังค้างชำระอยู่ให้แก่โจทก์
ส่วนเรื่องอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องที่ระบุไว้ในวรรค 1 อนุมาตรา 1, 2 และ 5 นั้นอย่างใดไม่เข้าอยู่ในบังคับอายุความสองปี ท่านให้มีกำหนดอายุความห้าปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วยอนุมาตรา (1) เห็นว่า เป็นเรื่องของอายุความที่จะใช้บังคับแก่บุคคลที่เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าขายสินค้า ศาลฎีกาเห็นว่า พ่อค้าตามความหมายแห่งมาตรา 165 นี้หมายถึงบุคคลที่ประกอบกิจการค้าโดยซื้อสินค้ามาและขายไปเป็นปกติธุระ คดีนี้ โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าโดยค้าไม้แปรรูปและน้ำตาลทรัพย์ที่ทำการซื้อขายกันในคดีนี้ไม่ได้เป็นสินค้าที่โจทก์ทำการค้าและไม่ใช่วัตถุประสงค์ในกิจการค้าของโจทก์ด้วย จะถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้ารถยนต์และอุปกรณ์ไม่ได้ การที่โจทก์ขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยต้องถือว่า โจทก์ได้ขายไปในฐานะอย่างเจ้าของทรัพย์ธรรมดาหาใช่ขายในฐานะเป็นพ่อค้าขายสินค้านั้น ๆ ไม่ ฉะนั้น จะนำเอาอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรค 2 มาใช้บังคับไม่ได้ กรณีนี้ต้องนำเอาอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 170,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2506 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ