คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลย (ลูกหนี้) ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องขอรับชำระหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย (ลูกหนี้) และได้มอบเงินให้ทนายจำเลยนำไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ซึ่งเป็นโจทก์รับไป ดังนี้ เป็นการที่จำเลย (ลูกหนี้) ไม่มีสิทธิจะทำได้ เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อทั้งผู้ร้องขอรับชำระหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ (จำเลย) ผู้ล้มละลายทราบอยู่แล้วว่าลูกหนี้ (จำเลย) ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ยังรับเงินจากลูกหนี้(จำเลย) ไว้ เช่นนี้ เป็นการมิชอบด้วยมาตรา 173 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ที่เอาเปรียบเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเรียกเอาเงินจำนวนนั้นคืนจากผู้ร้องขอรับชำระหนี้ได้
มติที่ประชุมเจ้าหนี้ยืนยันให้เรียกเงินคืน ในกรณีเช่นนี้แม้จะมีเจ้าหนี้มาประชุมเป็นส่วนน้อย เมื่อได้ความว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความนัดประชุมไปยังเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบโดยชอบแล้วก็ไม่ทำให้การประชุมและมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในการนั้นเสียไปทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 157

ย่อยาว

คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลย (ลูกหนี้) ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 26,615 บาท และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2510 ก่อนจำเลยล้มละลาย จำเลยได้ถูกผู้ร้องฟ้องเป็นคดีอาญาเรื่องใช้เช็คไม่มีเงินต่อศาลอาญาดำเนินคดีจนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2511 ผู้ร้องกับจำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยทนายจำเลยยอมชำระเงินให้ผู้ร้อง 15,000 บาทแทนจำเลย ผู้ร้องรับเงินจำนวนนี้ต่อหน้าศาลและถือว่าไม่มีหนี้สินอยู่ต่อกันแล้วขอถอนฟ้อง ศาลอาญาอนุญาต ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า จำเลย (ลูกหนี้) มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องคืนเงินจำนวน 15,000 บาทของจำเลย (ลูกหนี้)ซึ่งผู้ร้องรับคืนไปได้ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนและเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาและมีมติให้ยืนยันหนี้ต่อผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหนังสือยืนยันหนี้มายังผู้ร้อง ผู้ร้องเห็นว่าเงินที่ผู้ร้องรับไปเป็นเงินของทนายจำเลย มติที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งยกเลิกคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2510 และจำเลยได้ไปทำความตกลงประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องยอมชำระเงิน 15,000 บาท โดยจำเลยได้มอบเงินจำนวนนี้ให้นายเจิม ทนายจำเลยไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2511 อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ผู้ร้องต้องคืนเงิน 15,000 บาท ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์การประชุมเจ้าหนี้เจ้าพนักงานได้ปฏิบัติไปชอบด้วยมาตรา 157 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายแล้ว ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่า เงินที่นำไปวางชำระเป็นเงินของจำเลย(ลูกหนี้) และปรากฏว่าลูกหนี้ได้ชำระเงินให้ผู้ร้องระยะเวลาสามเดือนภายหลังที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วทั้งผู้ร้องก็ทราบว่าจำเลยได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจนถึงกับยื่นคำขอรับชำระหนี้ ถือว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ที่เอาเปรียบเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเรียกเงิน 15,000 บาทคืนได้ ส่วนมติของที่ประชุมเจ้าหนี้นั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งและนัดประชุมให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบโดยชอบแล้ว แม้จะมีเจ้าหนี้มาประชุมเพียง 2 ราย แล้วมีมติยืนยันให้เรียกเงินคืน ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ยืนตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายเป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย (ลูกหนี้) ในข้อหาใช้เช็คไม่มีเงินจำนวน 25,500 บาทก่อน ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2510 จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม 2511 ผู้ร้องกับจำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความในคดีอาญาดังกล่าวโดยทนายจำเลยชำระหนี้ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นเป็นเงิน 15,000 บาทแทนจำเลยแล้วผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ที่ยื่นไว้

ประเด็นข้อแรกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิที่จะเรียกเงิน 15,000 บาท คืนจากผู้ร้องหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่าเงินที่ผู้ร้องรับไปเป็นเงินของทนายจำเลยนั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความจริง ศาลฎีกาเห็นว่า เงิน 15,000 บาทเป็นเงินของนายทองย้อย จำเลย ฉะนั้น การที่นายทองย้อยจำเลยถูกศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2500 แล้วต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม 2511 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีอาญา และได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้นายเจิมทนายของจำเลยนำไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องรับไปนั้น จำเลยไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22 ประกอบทั้งผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ (จำเลย)ผู้ล้มละลาย ก็ทราบอยู่แล้วว่า ลูกหนี้ (จำเลย) ได้ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องยังไปรับเงินจากลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เช่นนี้ จึงมิเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 173 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ที่เอาเปรียบเจ้าหนี้อื่น จ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกเอาเงินจำนวน 15,000 บาทคืนจากผู้ร้องได้

ในปัญหาข้อกฎหมายที่ผู้ร้องฎีกาโต้เถียงว่าเรื่องนี้มีเจ้าหนี้ 13 คน แต่ในวันประชุมเจ้าหนี้มาประชุมเพียง 2 ราย มติที่ประชุมของเจ้าหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 157 บัญญัติว่า “เมื่อได้ส่งแจ้งความนัดประชุมหรือแจ้งความใด ๆ ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายในราชอาณาจักรแล้ว แม้เจ้าหนี้บางคนจะยังไม่ได้รับ ก็ไม่ทำให้การประชุมหรือการนั้นเสียไป” คดีนี้ได้ความว่า การประชุมเจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งและนัดประชุมใหญ่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบโดยชอบแล้ว แม้จะมีเจ้าหนี้มาประชุมเพียง 2 ราย แล้วมีมติยืนยันให้เรียกเงินคืนจากผู้ร้องก็เป็นการชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีกระบวนพิจารณาแตกต่างกับกฎหมายอื่น

พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาเป็นพับ

Share