คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แบบปากกาเป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าวซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าว งานสร้างสรรค์แบบปากกาจึงเป็นงานศิลปะประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4(7) ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ งานออกแบบปากกาค.และ ล. ซึ่งรวมงานสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกา แบบแม่พิมพ์ หุ่นจำลองและแม่พิมพ์ปากกาเป็นศิลปกรรมประเภทงานศิลปประยุกต์ซึ่งเกิดจากการนำเอางานจิตรกรรมและประติมากรรมมารวมกันโดยย.ป.ข. กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และอ. ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาค. และล. ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 เมื่อบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้ แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้ที่มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาค.และล ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7,8 และ 15 ย่อมได้ รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหารเป็นชุดเดียวกันเกือบทั้งหมดดำเนินกิจการออกแบบผลิตปากกา และจำหน่ายปากกาลูกลื่นในประเทศมากว่า 10 ปี โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้สร้างสรรค์งานรูปแบบปากกา โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แล้วโจทก์ที่ 1 จะผลิตปากกาให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4จำหน่าย จำเลยที่ 1 และที่ 8 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2ถึงที่ 7 เป็นกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 9 และที่ 10 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13เคยเป็นพนักงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 มีหน้าที่ทำแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตปากกา โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้คิดสร้างสรรค์งานปากกาด้วยตนเอง ตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบทำแม่พิมพ์ผลิตปากกา และนำออกจำหน่ายในท้องตลาดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ปากกาที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นและได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากมี 2 แบบ คือ ปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค (CANDYCOMPACT) ซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้คิดค้นสร้างสรรค์และออกแบบระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524 แล้วโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตให้โจทก์ที่ 2 นำออกวางตลาดเพื่อจำหน่ายและปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท (LANCER CADET หรือ CLIC ll) ซึ่งโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ได้คิดค้นสร้างสรรค์และออกแบบระหว่างปี 2524 ถึงปี2526 แล้วโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตให้โจทก์ที่ 2 นำออกวางตลาดเพื่อจำหน่าย งานออกแบบปากกาทั้งสองแบบนี้ ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยกรรมการและลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกัน ได้มีการออกแบบรูปลักษณะเป็นแบบร่างและสร้างหุ่นจำลองแก้ไขตกแต่งหุ่นจำลองหลายครั้งหลายหนจนได้แบบที่พอใจแล้วให้ช่างเทคนิคเขียนแบบออกแบบแม่พิมพ์ ร่างแม่พิมพ์ ทำการผลิต แล้วนำออกจำหน่ายคุณภาพของงานออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและงานประติมากรรมรวมกัน เพราะต้องใช้ความสามารถทางจินตภาพ มุ่งสร้างงานให้เป็นที่ต้องตาต้องใจ กระตุ้นจินตนาการผู้บริโภคเป็นสำคัญ และมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง อันเป็นงานศิลปประยุกต์ที่มีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 4(7) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 งานสร้างสรรค์นี้ผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นกรรมการและลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้มีสัญญาเป็นหนังสือตกลงให้เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หลังจากโจทก์ทั้งสี่ได้ผลิตปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค และปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสามได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลงงานสร้างสรรค์ปากกาของโจทก์ทั้งสองแบบ และนำออกวางจำหน่ายในท้องตลาด อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์กล่าวคือ เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้นำปากกาแบบแคนดี้ คอมแพคออกวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2526โจทก์ที่ 2 ได้ทุ่มทุนโฆษณาทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ตลอดจนสื่อมวลชนอื่นเป็นเงินจำนวนมากโดยประมาณการได้แน่นอนว่าในปี 2526 จะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 4,000,000 ด้าม และจะจำหน่ายในปีต่อ ๆไป ไม่น้อยกว่าปีละ 12,000,000 ด้าม ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2527 มีปากกาใช้ชื่อว่า จ๊อตจอย (JOY JOY)วางจำหน่ายในท้องตลาดมีลักษณะเป็นการทำซ้ำดัดแปลงบางส่วนในปากกาแคนดี้ คอมแพค เป็นการทำขึ้นโดยจงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยที่ 11 ในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่เป็นช่างทำแม่พิมพ์ได้ลักเอกสารอันเป็นต้นแบบในการทำแม่พิมพ์ปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ของโจทก์ทั้งสี่ไป แล้วได้ร่วมกับจำเลยที่ 12 และที่ 13 ทำการผลิตแม่พิมพ์ และร่วมกับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานรับทำแม่พิมพ์ ทำแม่พิมพ์แบบแคนดี้ คอมแพคให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เป็นผู้ดำเนินการทำแม่พิมพ์หรือได้รับซื้อแม่พิมพ์ดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยลอกเลียนรูปลักษณะของปากกาแคนดี้ คอมแพค อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ดำเนินการผลิตเป็นปากกาจ๊อตจอยออกวางตลาดเพื่อจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรโจทก์ทั้งสี่ทราบเรื่องเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 11 ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์นายจ้างและเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะเสียหายแก่ผู้อื่นขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลอาญา ส่วนปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดทโจทก์ที่ 4 นำออกวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2527 โดยได้วางแผนโฆษณาและการตลาดไว้ซึ่งประมาณการได้แน่นอนว่าระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2527 จะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ด้าม และในปีต่อไปไม่น้อยกว่าปีละ12,000,000 ด้าม แต่เมื่อโจทก์ที่ 4 นำปากกาแลนเซอร์ คาเดทออกวางจำหน่ายได้ประมาณ 1 เดือน ก็พบว่า ได้มีปากกาที่ใช้ชื่อว่าติ๊กแต๊ก(TIK TAK) วางจำหน่ายในท้องตลาดมีลักษณะเป็นการทำซ้ำดัดแปลงบางส่วนในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทเป็นการทำขึ้นโดยจงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ซึ่งทราบดีว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ได้สร้างสรรค์ปากกาแลนเซอร์ คาเดท จนสามารถจะทำการผลิตปากกาออกจำหน่ายในท้องตลาดได้ประมาณเดือนกันยายน 2527 ได้นำปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท มาดัดแปลง แล้วร่วมกับจำเลยที่ 8ถึงที่ 10 ทำแม่พิมพ์ปากกาที่ลอกเลียนรูปลักษณะของปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ขึ้น จากนั้นจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้ขายแม่พิมพ์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ให้ดำเนินการทำแม่พิมพ์หรือได้รับซื้อแม่พิมพ์ดังกล่าวไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นโดยลอกเลียนรูปลักษณ์ของปากกาแลนเซอร์ คาเดท อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้นำแม่พิมพ์ไปดำเนินการผลิตปากกาใช้ชื่อว่าติ๊กแต๊ก ออกวางตลาดจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ทำให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปเข้าใจไขว้เขว ไม่ทราบว่าสินค้าใดเป็นของโจทก์ทั้งสี่หรือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เนื่องจากรูปลักษณะของปากกาเป็นแบบเดียวกัน จำเลยทั้งสิบสามรู้อยู่แล้วว่าปากกาแบบแคนดี้ คอมแพคและปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดทเป็นของโจทก์ทั้งสี่แต่ยังร่วมกันลอกเลียนแบบ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสี่อันเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือในปี 2526 โจทก์ที่ 1 ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยด้ามละ 1.01 บาท ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ให้โจทก์ที่ 2 ในราคาด้ามละ 1.50 บาท จำนวนประมาณ 4,300,000 ด้ามโจทก์ที่ 2 นำไปจำหน่ายในราคาเฉลี่ยด้ามละ 1.91 บาทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้กำไรเป็นเงิน ประมาณ 4,000,000 บาทแต่หลังจากจำเลยทั้งสิบสามผลิตปากกาจ๊อตจอยออกจำหน่ายในปี 2527 โจทก์ที่ 2 ต้องลดราคาในการจำหน่ายปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ลงเหลือด้ามละ 1.45 บาท เพื่อแข่งขันในทางการค้าและป้องกันการสูญเสียตลาด ทั้งโจทก์ที่ 2 ต้องซื้อกล่องพิเศษนำไปบรรจุปากกา ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก 21 สตางค์ต่อ 1 ด้าม เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องขาดรายได้อันควรจะได้รับตามปกติด้ามละ 67 สตางค์ ซึ่งตามแผนการตลาดในปี 2527 โจทก์ที่ 2 จะจำหน่ายปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ได้ไม่น้อยกว่า 12,000,000 ด้าม แต่โจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้เพียง6,280,000 ด้าม ขาดรายได้ส่วนนี้ไป 4,207,600 บาท และขาดรายได้จากยอดขายที่ขาดไป 5,720,000 ด้าม เฉลี่ยกำไรด้ามละ90 สตางค์ เป็นเงิน 5,148,000 บาท ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2ขาดรายได้สำหรับปี 2527 รวมเป็นเงิน 9,355,600 บาทและปีต่อ ๆไปเสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ 779,633.33 บาท ในการสร้างสรรค์ปากกาแคนดี้ คอมแพค หากจะมีการซื้อขายแบบแปลนและแม่พิมพ์ในการผลิตปากกา โจทก์ทั้งสี่จะขายได้ในราคาไม่น้อยกว่า5,000,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าเสียหายเป็นค่าลิขสิทธิ์อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินจำนวน 4,000,000 บาท สำหรับปากกาแลนเซอร์ คาเดท โจทก์ที่ 1 ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยด้ามละ 1.06 บาท ได้ผลิตและจำหน่ายให้โจทก์ที่ 4 ในราคาเฉลี่ยด้ามละ 1.45 บาท แล้วโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ได้กำหนดราคาจำหน่ายด้ามละ 2.20 บาท โจทก์ประมาณการว่าระยะเวลา 4 เดือนในปี 2527 จะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ด้าม และในปีต่อ ๆ ไปจะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 12,000,000 ด้าม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ผลิตปากกาติ๊กแต๊กออกจำหน่ายโจทก์ที่ 4 ต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการจำหน่ายปากกาแบบนี้ลดลงไปด้ามละ 49 สตางค์ และโจทก์ที่ 4 จำหน่ายปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ได้จำนวนน้อยลง ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 4ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2527 จากยอดขายจำนวน 1,200,000 ด้าม ด้ามละ 49 สตางค์ เป็นเงิน 588,000 บาท และจากยอดจำหน่ายที่ขาดหายไป 800,000 ด้ามซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ควรได้รับกำไรด้ามละ 1.14 บาทเป็นเงิน 912,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,500,000 บาท และปีต่อ ๆ ไปยอดจำหน่ายจะถูกแบ่งส่วนไปประมาณ 6,000,000 ด้ามทำให้ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับจากยอดจำหน่ายด้ามละ 49 สตางค์เป็นเงิน 2,940,000 บาท และขาดประโยชน์จากยอดจำหน่ายที่ขาดหายไป 6,000,000 ด้าม ด้ามละ 1.14 บาท เป็นเงิน 6,840,000บาท รวมเป็นเงิน 9,780,000 บาท คิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 815,000 บาท กับโจทก์ทั้งสี่ต้องเสียคุณค่าของงานเป็นค่าลิขสิทธิ์ปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ซึ่งอาจซื้อขายได้ไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 4,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน9,355,600 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 779,633.33 บาท กับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 815,000 บาท สำหรับค่าเสียหายรายเดือนให้ใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบสามจะหยุดทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสิบสามใช้ค่าเสียหาย 8,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 9,355,600 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในต้นเงิน 1,500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1และที่ 4 และในต้นเงิน 8,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสิบสามหยุดทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานปากกาทั้งสองแบบของโจทก์ทั้งสี่ และหยุดการจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยและปากกาติ๊กแต็ก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 10 ให้การว่า รูปแบบปากกาทั้งสองแบบตามฟ้องมิใช่งานสร้างสรรค์ และมิใช่งานศิลปประยุกต์ โจทก์ทั้งสี่มิใช่เจ้าของหรือได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์ตามฟ้อง และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า การออกแบบปากกาของโจทก์ไม่ใช่งานศิลปประยุกต์ โจทก์ลอกเลียนแบบปากกามาจากต่างประเทศ มิได้คิดค้นประดิษฐ์ด้วยตนเอง รูปแบบของปากกามิใช่งานศิลปที่ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์จำเลยที่ 5 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ให้การว่า รูปแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่มิใช่งานสร้างสรรค์ โจทก์ทั้งสี่จึงมิใช่เจ้าของหรือได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ในฐานะพนักงานลูกจ้างและเป็นผู้ออกแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคยทำหนังสือตกลงให้ผลงานตกได้แก่โจทก์ทั้งสี่ ลิขสิทธิ์ในปากกาตามฟ้องจึงเป็นของจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 การกระทำของจำเลยที่ 11ถึงที่ 13 ไม่เป็นละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินจำนวน6,000,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ 500,000 บาทและให้จำเลยดังกล่าวใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4เป็นเงินจำนวน 1,200,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ 600,000 บาท สำหรับค่าเสียหายรายเดือนให้ชำระตั้งแต่เดือนมกราคม 2528 จนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดทำการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ให้จำเลยดังกล่าวชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2และในต้นเงิน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยดังกล่าวหยุดทำการละเมิดในงานแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์คาเดทของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1 หยุดจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยและปากกาติ๊กแต๊ก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท นั้นโจทก์ทั้งสี่มีนางสาวดวงสมร เหาตะวานิชกรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสี่นายยูเลี่ยน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ กรรมการโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 นายปอ อนาวิล กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่าเดิมโจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายปากกาลูกลื่นยี่ห้อบิคในประเทศไทย โดยสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้สั่งแม่พิมพ์ปากกาบิคจากผู้ผลิตในประเทศฝรั่งเศสเข้ามาผลิตในประเทศไทย และให้โจทก์ที่ 2 จำหน่าย จากนั้นในปี 2519 โจทก์ที่ 1 จะทำแม่พิมพ์ผลิตปากกาลูกลื่นขึ้นเองจึงว่าจ้างนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ ชาวเยอรมัน ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและทำแม่พิมพ์ให้มาทำงานกับโจทก์ที่ 1 และตั้งโรงงานจัดทำแม่พิมพ์ขึ้นเริ่มออกแบบทำแม่พิมพ์ของตนเองตั้งแต่ปี 2522ก่อนที่จะออกแบบและทำแม่พิมพ์ต้องทำการวิจัยทางการตลาดก่อนเมื่อทราบแนวโน้มความต้องการและความนิยมของผู้ใช้แล้วนายยูเลี่ยน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นายปอ อนาวิล และนายขจร ลิมปนเทวินทร์ กรรมการของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3จะเริ่มคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่า คือวิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อนและเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำโดยประชุมปรึกษาหารือกันถึงข้อดีข้อเสียต่าง ๆ จนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ ก็จะนำไปปรึกษาหารือกับนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ว่าจะทำแม่พิมพ์ได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ ก็ต้องเขียนร่างรูปทรงและลวดลายปากกากันใหม่ หากทำได้ นายเอิร์น อีริค แวกเนอร์จะไปเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลอง ต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรดและทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกา โจทก์ทั้งสี่ได้คิดค้นออกแบบและผลิตปากกาออกวางจำหน่ายมาแล้วหลายแบบแต่ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากมี 2 แบบคือ ปากกาแคนดี้ คอมแพค ตามตัวอย่างปากกาวัตถุพยานหมายจ.16 และปากกาแลนเซอร์ คาเดท ตามตัวอย่างปากกาวัตถุพยานหมายจ.17 สำหรับปากกาแคนดี้ คอมแพค กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ได้ร่วมกันคิดค้นออกแบบและทำหุ่นจำลองขึ้นในระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524 ส่วนปากกาแลนเซอร์ คาเดท กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ได้ร่วมกันคิดค้นออกแบบและทำหุ่นจำลองขึ้นในระหว่างปี 2524 ถึงปี 2526 รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการในการออกแบบปากกาปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.85 และ จ.86 กับแบบพิมพ์รูปลักษณ์ปากกาหลาย จ.87 ถึง จ.96 และหุ่นจำลองปากกาวัตถุพยานหมาย จ.72 และ จ.76 เมื่อคิดค้นออกแบบ ทำหุ่นจำลอง ทำอิเล็กโทรด และทำแม่พิมพ์เสร็จแล้วแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตปากกาแคนดี้ คอมแพค ให้โจทก์ที่ 2นำออกโฆษณาวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526และโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตปากกาแลนเซอร์ คาเดท ให้โจทก์ที่ 4นำออกโฆษณาวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2527 สำหรับเอกสารเกี่ยวกับแบบพิมพ์หุ่นจำลองของปากกา อิเล็กโทรด และแม่พิมพ์ของปากกาทั้งสองแบบดังกล่าว ได้เก็บไว้เป็นความลับในโรงงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 บุคคลภายนอกไม่สามารถนำออกไปได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ทั้งสี่ ปรากฏตามรายงานกระบวนการพิจารณาที่ศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบโรงงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2528ว่าอาคารชั้น 3 มีกระดาษสเก็ตซ์รูปแบบของปากกา สถานที่เขียนแบบตามห้องต่าง ๆ และมีรูปแบบพิมพ์จำนวนมาก ซึ่งมีรายละเอียดชิ้นส่วนรูปแบบของปากกาในแบบพิมพ์ รวมทั้งหุ่นจำลองชิ้นส่วนรูปแบบของปากกา ปรากฏรายละเอียดตามภาพถ่ายหมาย จ.86 แสดงให้เห็นว่าก่อนที่โจทก์ที่ 1 จะผลิตปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท ออกจำหน่ายได้ต้องมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนหลายขั้นตอน ตั้งแต่การออกสำรวจและทำการวิจัยทางการตลาด เพื่อทราบความนิยมและความต้องการของผู้ใช้ปากกาลูกลื่น แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาให้กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ทำการคิดค้นรูปทรงและลวดลายของปากกา โดยยกร่างในกระดาษและปรึกษาหารือกันจนได้รูปทรงและลวดลายเป็นที่พอใจ จึงได้มีการเขียนแบบทำหุ่นจำลองออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรด ทำแม่พิมพ์และผลิตปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวออกจำหน่ายจึงถือได้ว่านายยูเลี่ยน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นายปอ อนาวิล นายขจรลิมปนเทวินทร์ และนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ กรรมการ และลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ทำและก่อให้เกิดงานในแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวขึ้น โดยความคิดริเริ่มของตนเอง งานออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าว ประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลองงานอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา นายสุกิตติ กลางวิสัย ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในวิชาการออกแบบอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา และรับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาออกแบบทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์และออกแบบอุตสาหกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอุปนายกสมาคมนักออกแบบอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ปากกาตัวอย่างตามวัตถุพยานหมาย จ.16 และ จ.17 ซึ่งหมายถึงปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท เข้าช่วยเป็นงานศิลปกรรม ประเภทงานประติมากรรม และประเภทงานศิลปะประยุกต์ เพราะมีรูปทรงที่ดึงดูดสายตาก่อให้เกิดปฏิกิริยาแก่ผู้พบเห็น และสามารถนำไปใช้สอยเป็นประโยชน์ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า”ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง “ศิลปกรรม” หมายความว่างานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้(1) งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นแสง สี หรือสิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง(2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่เอางานตาม (1) ถึง (6)อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่” เห็นได้ว่าแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม และการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าวซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าว งานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นข้อนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปากกาแคนดี้ คอมแพคและปากกาแลนเซอร์ คาเดท กับปากกาลูกลื่นแบบต่าง ๆ ที่ฝ่ายจำเลยส่งศาลเป็นวัตถุพยานแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวของโจทก์ทั้งสี่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากปากกาที่ฝ่ายจำเลยส่งศาลโดยเฉพาะที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า โจทก์ทั้งสี่ออกแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค โดยเลียนแบบปากกาเวิร์คชอพ ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.5 และออกแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทโดยเลียนแบบปากกา Mon Ami และ Nestler ตามวัตถุพยานหมายว.ล.10 และ ว.ล.19 นั้น ฟังไม่ได้ว่า โจทก์ทั้งสี่ออกแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค โดยเลียนแบบปากกาเวิร์คชอพ และออกแบบปากกาแลนเซอร์ คอมแพค โดยเลียนแบบปากกาตามวัตถุพยาน ว.ล.10 และ ว.ล.19 แต่ถือได้ว่าแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยความคิดริเริ่มขึ้นเอง งานออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวซึ่งรวมงานสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาแบบแม่พิมพ์หุ่นจำลองและแม่พิมพ์ปากกา จึงเป็นศิลปกรรมประเภทงานศิลปประยุกต์ซึ่งเกิดจากการนำเอางานจิตรกรรมและประติมากรรมมารวมกัน โดยนายยูเลียน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นายปอ อนาวิลนายขจร ลิมปนเทวินทร์ กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์ขึ้น ขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท อันเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 โจทก์ทั้งสี่นำสืบต่อไปว่า หลังจากที่ได้ออกแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคและปากกาแลนเซอร์ คาเดท เสร็จแล้วบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามเอกสารหมาย จ.15 ในประเด็นนี้ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบโต้เถียงจึงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7, 8 และ 15ที่ฝ่ายจำเลยแก้ฎีกาว่า การออกแบบปากกาทั้งสองแบบไม่ใช่งานจิตรกรรมและประติมากรรม อันเกิดจากงานศิลปกรรมที่ได้ทำขึ้นในแผนกศิลปนั้น จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ให้จำเลยที่ 1 หยุดการจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยและติ๊กแต๊ก ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,127,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 84,427 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 11ที่ 12 และที่ 13 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2จำนวน 3,895,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 2เดือนละ 63,751 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในปากกาแคนดี้ คอมแพค ของโจทก์ที่ 2ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 156,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 10,764 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ร่วมกัน ใช้ค่าเสียหายแก่ โจทก์ที่ 4 จำนวน 153,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 4 และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 4 เดือนละ 1,656 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share