คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อแรกตามฟ้องข้อ ก. นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการตามฟ้องโจทก์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้มาก็เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานปากใดมานำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามมาตรา 162 แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง ซึ่งได้วินิจฉัยเป็นยุติสำหรับจำเลยที่ 1 ไว้แล้วเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ ข. ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาด้วยนั้น ปรากฏว่าความผิดข้อหานี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.14 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรือการเบิกจ่ายพัสดุและเอกสารหมาย จ.41 ที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะใช้ยันจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองซึ่งได้วินิจฉัยเป็นยุติสำหรับจำเลยที่ 1 ไว้ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้มา เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษอย่างเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่นั้น จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทานโจทก์ร่วม ซึ่งมิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา151,157 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2จะร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดกรมชลประทาน ตำแหน่งนายช่างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งแซงบาดาล จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน ทำหน้าที่หัวหน้าพัสดุโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลประทานทุ่งแซงบาดาลซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจและหน้าที่ซื้อ ทำเอกสาร รับเอกสาร และกรอกข้อความลงในเอกสาร จัดหาพัสดุในการก่อสร้างการชลประทาน ทำหน้าที่บัญชีพัสดุ จัดซื้อพัสดุและตรวจรับพัสดุ ทำบัญชีเบิกจ่ายเงินค่าพัสดุในเขตชลประทานทุ่งแซงบาดาล จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการสังกัดกรมชลประทานตำแหน่งผู้อำนวยการชลประทานที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการจัดซื้อพัสดุ และอนุมัติจัดซื้อพัสดุ ควบคุมการเบิกจ่ายเงิน ควบคุมการก่อสร้างชลประทานให้เป็นไปตามแบบแปลนแผนผังที่กรมชลประทานกำหนด ในเขตชลประทานที่ 5 เมื่อระหว่างวันที่1 ตุลาคม 2523 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2524 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ
ก. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุที่ซื้อจากร้านจำหน่ายพัสดุ ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 9 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยกลอย บ้านโคกสี กิ่งอำเภอเมียวดีอ่างเก็บน้ำห้วยกลอย บ้านหนองเดิ่น กิ่งอำเภอเมยวดีอ่างเก็บน้ำหนองวังหิน อำเภอเมือง อ่างเก็บน้ำหนองแดง อำเภอเมืองอ่างเก็บน้ำกุดสนามแข้ อำเภอเสลภูมิ อ่างเก็บน้ำหนองโก อำเภอเมืองอ่างเก็บน้ำกุดสะบู่ อำเภอเสลภูมิ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อำเภอเสลภูมิและอ่างเก็บน้ำห้วยแกว อำเภอเสลภูมิ ได้ร่วมกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง กรอกข้อความในเอกสารใบส่งสินค้าจากร้านค้าพัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเท็จ โดยไม่มีพัสดุให้ตรวจรับจริง เป็นเหตุให้กรมชลประทานเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
ข. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันทำใบเบิก ใบสั่งซื้อใบส่งสินค้าอันเป็นเท็จ ส่งไปขออนุมัติเบิกเงินและเบิกเงินจากสำนักงานชลประทานที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี แล้วร่วมกันทุจริตเบียดบังเอาพัสดุหรือเงินค่าซื้อพัสดุไปเป็นเงิน 4,496,323.83 บาทอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมชลประทานและรัฐได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลละบ้าอำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ดและตำบลปทุมอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เกี่ยวพันกัน
ค. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2524 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น บังอาจใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทำใบสั่งซื้อพัสดุอันเป็นเอกสารราชการของกรมชลประทาน แล้วกรอกข้อความสั่งซื้อพัสดุต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับงานซ่อมแซมปรับปรุงทำนบดินอ่างหนองผือจำนวนเงิน 156,500 บาท และใช้สำหรับงานซ่อมแซมปรับปรุงทำนบดินอ่างห้วยกุดแคน จำนวนเงิน 94,900 บาท และใช้สำหรับงานซ่อมแซมปรับปรุงอ่างห้วยแล้ง จำนวนเงิน 157,920 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 409,320 บาท จากร้านฉัตรชัยพาณิชย์ อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยจำเลยทั้งสองมิได้ซื้อพัสดุจริง ๆ แต่ได้เอาใบสั่งสินค้าดังกล่าวแลกกับเงินสดจำนวน 400,000 บาท จากร้านฉัตรชัยพาณิชย์ แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมชลประทานและรัฐเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรีจังหวัดร้อยเอ็ด และตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์จังหวัดกาฬสินธุ์ เกี่ยวพันกัน
ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147151, 157, 162, 83, 91 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,865,076.30 บาท แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา กรมชลประทานผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ให้จำคุกไว้คนละ 1 ปีและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151, 157 แต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้วางโทษตามมาตรา 147 จำคุกไว้คนละ 5 ปีรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 6 ปี สำหรับจำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3มีกำหนด 5 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,475,639.13 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (ที่ถูกเป็นมาตรา162(1) รวม 2 กรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 2 ปี เมื่อนำโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ตามมาตรา 147 จำคุกคนละ 5 ปีมารวมกันแล้วเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 7 ปีจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 4,496,324.46 บาท แก่โจทก์ร่วมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาข้อแรกตามฟ้องข้อ ก. นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการตามฟ้องโจทก์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานปากใดมานำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามมาตรา 162 แล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง ซึ่งได้วินิจฉัยเป็นยุติสำหรับจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 1จะต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ ข. ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มานั้น ปรากฏว่าความผิดข้อหานี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรือการเบิกจ่ายพัสดุและเอกสารหมาย จ.41 ที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะใช้ยันจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองซึ่งได้วินิจฉัยเป็นยุติสำหรับจำเลยที่ 1เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้มาด้วยจึงเป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษอย่างเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่นั้น จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของกรมชลประทานโจทก์ร่วมซึ่งมิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) และมาตรา 147, 151, 157เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้นปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2จะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1) ประกอบมาตรา 86 รวม 2 กรรม ให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 8 เดือน และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151, 157 ประกอบมาตรา 86 อีกกรรมหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 ให้วางโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมโทษทั้ง 3 กระทง จำคุก 4 ปี 8 เดือนเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 1 เดือน 10 วันให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,496,323.83บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share