คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12827/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็จะเรียกแบ่งไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างบิดาขณะยังมีชีวิตอยู่กับบุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ จำเลยทั้งสี่ และ ธ. ด้วยว่าห้ามโอนหรือแบ่งแยกที่พิพาท ซึ่งมีลักษณะเป็นนิติกรรมห้ามแบ่งแยกระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน แต่จะรับฟังถึงขนาดว่าวัตถุประสงค์ที่โจทก์ จำเลยทั้งสี่ และ ธ. เป็นเจ้าของรวมกันมีลักษณะเป็นการถาวรคงยังไม่ชัดแจ้งนัก ทั้งนิติกรรมที่ห้ามแบ่งทรัพย์สิน จะใช้บังคับระหว่างเจ้าของรวมด้วยกันเกิน 10 ปี ไม่ได้ ตามมาตรา 1363 วรรคสอง หาใช่ว่าไม่มีกำหนดระยะเวลาดังที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อนิติกรรมห้ามโอนได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอเรียกแบ่งทรัพย์สินเกินกว่า 10 ปี แล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกขอแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร ตามมาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1363 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 10070 ออกเป็นสองในหกส่วนของพื้นที่ทั้งหมดแก่โจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ตามแผนที่ โดยให้ศาลเป็นผู้แบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าโจทก์และจำเลยทั้งสี่จะได้ส่วนใดของที่ดิน หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงการเจตนาของจำเลยทั้งสี่ในการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10070 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แก่โจทก์ เนื้อที่ตามส่วนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน โดยให้ตกลงแบ่งกันเองระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ ให้ฝ่ายที่เสนอราคาสูงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งหมด หากตกลงประมูลราคากันไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดที่ดิน แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตามส่วนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังว่า โจทก์ จำเลยทั้งสี่ นายธงชัยและนายนวนา เป็นบุตรของนายกังสูนกับนางกิมบ้วย เดิมที่ดินที่พิพาทโฉนดเลขที่ 10070 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อนายนวนา เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อนายนวนาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสี่และนายธงชัย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ต่อมานายธงชัยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในส่วนของตนให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของรวมอยู่ได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็จะเรียกแบ่งไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างบิดาขณะยังมีชีวิตอยู่กับบุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ จำเลยทั้งสี่ และนายธงชัยด้วยว่าห้ามโอนหรือแบ่งแยกที่ดินพิพาทนั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นนิติกรรมห้ามแบ่งแยกระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน แต่จะรับฟังถึงขนาดว่าวัตถุประสงค์ที่โจทก์ จำเลยทั้งสี่ และนายธงชัย เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรคงยังไม่ชัดแจ้งนัก ทั้งนิติกรรมที่ห้ามแบ่งทรัพย์สินนั้น จะใช้บังคับระหว่างเจ้าของรวมด้วยกันเกิน 10 ปีไม่ได้ ตามมาตรา 1363 วรรคสอง หาใช่ว่าไม่มีกำหนดระยะเวลาดังที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อนิติกรรมห้ามโอนได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอเรียกแบ่งทรัพย์สินเกินกว่า 10 ปี แล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกขอแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร ตามมาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ ตามมาตรา 1363 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share