คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 ตรงกันกับคำว่า ” ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ” ใน ป.พ.พ.มาตรา 1304 (1) เมื่อทางการต้องการหวงห้ามที่ดินที่ยังรกร้างว่างเปล่า เพื่อจะใช้เป็นสาธารณประโยชน์ใด ก็ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้
ที่ดินที่พลเมืองได้ใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) ป.พ.พ. ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่า ที่เหล่านั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในตัว แม้ภายหลังจะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ด้วย
ที่ณาปนสถานซึ่งประชาชนใช้ฝังและเผาศพอยู่ ภายหลังได้ล้างป่าช้า และได้ปลูกโรงเรียนเทศบาลขึ้น ที่ดังกล่าวนั้นก็ยังเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม
ฟ้องโจทก์กล่าวว่า บริเวณโดยรอบซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้น โจทก์มุ่งหมายให้เข้าใจเพียงว่าเป็นที่ส่วนประกอบของที่สาธารณตามสภาาพของลักษณะที่ดิน ที่เช่นนั้นไม่เกี่ยวกับที่ว่างเปล่าตามมาตรา 1304 (1) แต่อย่างใด
โจทย์ฟ้องว่าโจทก์เทศบาลได้เข้าครอบครองโดยได้รับมอบให้ดูแลจัดตั้งสถานที่ศึกษาเล่าเรียนอันเป็นสาธารณประโยชน์ของรัฐตามอำนาจและหน้าที่ จำเลยได้เข้ามาบุกรุกอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่า คณะกรมการอำเภอพะเยาว์ได้อนุญาตให้เทศบาลเมืองพะเยาว์ใช้ป่าและบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่บ้านไหล่อิง ในเขต ๔ เทศบาลเมืองพะเยาว์ จัดสร้างโรงเรียนเทศบาล ๓ ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ ครั้น พ.ศ.๒๔๘๕ ซึ่งเป็นเวลาสงครามรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังทหารขึ้นมาประจำภาคเหนือ หน่วยทหารได้สับเปลี่ยนและตั้งค่ายพักในที่นี้ตลอดทั้งที่ดินของเอกชนใกล้เคียง โดยจัดสร้างที่พัก ฯลฯ จนเขตที่ดินของโรงเรียนจำเลยต่างถือโอกาศเข้าบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินภายในเขตโรงเรียนบางส่วน จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพดีและเรียกค่าเสียหายจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลย และตัดฟ้องว่าการหวงห้ามของเทศบาลและอำเภอพะเยาว์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งคดีเคลือบคลุมและขาดอายุความแล้วจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ป.วิ.แพ่ง
ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับคำร้องของจำเลยว่าที่พิพาทได้เปลี่ยนสภาพจากป่าช้าสาธารณะแล้ว หากจะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ก็หาได้เป็นสาธารณสมบัติกลางซึ่งผู้ใดจะเข้าถือสิทธิครอบครองไม่ได้ไม่ และคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ยังมีอำนาจฟ้องและคดียังไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ” ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ” ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๗๘ นี้ตรงกับคำว่า ” ที่รกร้างว่างเปล่า ” ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๐๔ (๑) เมื่อทางการต้องการหวงห้ามที่ดินที่ยังรกร้างว่างเปล่าเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ก็ต้องดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตาม พ.ร.บ.นี้
ทีดินที่พลเมืองใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ (๒) ดังคำฟ้องคดีนี้ ไม่ใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่เหล่านั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่แล้วในตัว และแม้ภายหลังจะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ด้วยกันก็ตามที
คำฟ้องกล่าวว่าบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้นโจทก์มุ่งหมายให้เข้าใจเพียงเป็นที่ส่วนประกอบที่สาธารณตามสภาพของลักษณะที่เช่นนั้น ไม่เกี่ยวกับที่รกร้างว่างเปล่าตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แต่อย่างไร
โจทก์ยืนยันว่า ได้เข้าครอบครองโดยได้รับมอบให้ดูแลจัดตั้งสถานที่ที่ศึกษาเล่าเรียน อันเป็นสาธารณประโยชน์แทนรัฐตามอำนาจและหน้าที่ ภายหลังจำเลยกลับบุกรุก อันเป็นการรบกวนสิทธิโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๕
พิพากษายืน

Share