แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และโจทก์ร่วมได้บรรยายฟ้องและนำสืบในทำนองว่า เรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าผู้บริหารบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เป็นความจริง ซึ่งเท่ากับโจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยแกล้งกล่าวหา เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงินและทรัพย์สินแก่จำเลยแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัท ท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๓๓๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมจิตต์ เศรษฐิน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๓๓๗ (ที่ถูกมาตรา ๓๓๗ วรรคแรก) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ จำคุก ๑๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ๆ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในช่วงเกิดเหตุ แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะนำสืบฟังได้ว่า ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยมีสิทธิที่จะนำเรื่องที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่าผู้บริหารบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปอภิปรายในรัฐสภาโดยอภิปรายถึงการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการอภิปรายจะต้องเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด แต่เรื่องที่จำเลยจะนำไปอภิปรายดังกล่าว ก็จะต้องเป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมได้บรรยายฟ้องและนำสืบในทำนองว่า เรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าผู้บริหารบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องตั้งโรงงานยางมะตอยไม่เป็นความจริง ซึ่งเท่ากับโจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยแกล้งกล่าวหา เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงินจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และรถยนต์ ๑ คันแก่จำเลย แลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัททิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมโดยมิชอบเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ อีกบทหนึ่งตามที่โจทก์ฟ้องด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ มาด้วยนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ วรรคแรก บทเดียว จำคุก ๔ ปี และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙.