คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12795/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการอุทธรณ์โดยยกเอาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แล้วนำเอาหลักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องมาปรับเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 7,511,562.30 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทโมเดคเฮ้าส์ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพราะเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ให้รับฎีกาโจทก์ร่วมเฉพาะปัญหาว่าอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า คำอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาให้ยกนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอก เมื่อสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำเบิกความของนายจิตรกร ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ร่วมเบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่สามารถนำสืบให้ชัดแจ้งถึงแหล่งที่มาและวิธีการนำเงินรายได้ไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ตรวจสอบเงินค่าสินค้าคงเหลือว่าจำเลยยักยอกหรือไม่ คงมุ่งเน้นตรวจสอบเฉพาะเงินมัดจำ ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบเงินทั้งสองส่วน พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่สามารถเชื่อมโยงและมีความกระจ่างชัดให้สิ้นสงสัยได้ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินโจทก์ร่วมตามฟ้อง โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเหตุแห่งความสงสัยมายกประโยชน์แก่จำเลยนั้น เป็นเพียงเหตุรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่มุ่งพิสูจน์ความผิดของจำเลย การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เห็นว่า การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยว่า พยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากันนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจในการค้นหาเหตุผลจากพยานหลักฐานเหล่านั้นว่าควรจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่ ฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากันศาลมีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาใช้ดุลพินิจรับฟังได้ตามสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นอำนาจโดยอิสระของศาลชั้นต้นในการค้นหาเหตุผลเพื่อหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ได้ข้อยุติ ข้อที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้แย้งว่าเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับว่า หากเป็นรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจไม่ได้ การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลชั้นต้นจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังที่โจทก์ร่วมอ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นการอุทธรณ์โดยยกเอาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงแล้วนำเอาหลักกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องมาปรับเพื่อให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เว้นแต่จะมีผู้อนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share