แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลย่อมมีอำนาจที่จะระบุไว้ในคำพิพากษานั้นด้วยว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำฟ้อง และไม่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เพราะมาตรา142 กับมาตรา 148 นั้น ต้องพิจารณาประกอบกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่ได้ยืมเงินโจทก์ แต่ยืมเงินของบริษัทค้าสัตว์ทหารสามัคคีจำกัดโจทก์เพิ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายหลังการกู้เงินรายนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นด้วย จึงพ้นความรับผิด
เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน ฟังว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินจากบริษัทค้าสัตว์ฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2498 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน บริษัทโจทก์เพิ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายหลังการกู้เงินรายนี้ ผู้จัดการบริษัทโจทก์เบิกความว่าบริษัทค้าสัตว์ฯ ได้เลิกกิจการแล้วโอนกิจการรวมทั้งสิทธิและหน้าที่และหนี้สินให้กับบริษัทโจทก์ แต่โจทก์ไม่บรรยายในฟ้องถึงการโอนดังที่พยานโจทก์เบิกความ การนำสืบของโจทก์ในข้อนี้จึงนอกประเด็นศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่วินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิของโจทก์จะฟ้องคดีใหม่
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ที่ศาลพิพากษาว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องคดีได้ใหม่นั้น ไม่ถูกต้อง ชอบที่จะยกฟ้องโดยไม่มีเงื่อนไขให้ฟ้องใหม่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เรื่องนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยไม่ได้ตั้งข้อหาเรื่องรับโอนหนี้จากบริษัทเจ้าหนี้ของจำเลย แต่มูลหนี้ที่โจทก์รับโอนมามีอยู่ ศาลแพ่งยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือประการใด ฉะนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กล่าวว่า ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องใหม่จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่า ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะฟ้องใหม่ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3)บัญญัติรับรองให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไว้ด้วยว่าไม่ตัดสิทธิที่จะนำคดีมายื่นฟ้องใหม่โดยไม่มีเงื่อนไขหรือวางกฎเกณฑ์ไว้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวได้ภายในเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์อย่างใด จึงเป็นการให้อำนาจศาลในกรณีที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยจะมีความรับผิดต่อโจทก์ในหนี้สินรายที่โจทก์ฟ้องนี้หรือไม่ เป็นแต่วินิจฉัยในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ จึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เพราะแม้มาตรา 142 จะห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นอันบัญญัติไว้ในมาตรานั้น แต่เมื่อมีมาตรา 148 ให้อำนาจศาลไว้ดังกล่าวแล้ว ก็ต้องพิจารณามาตราทั้งสองนี้ประกอบกัน และถือว่าการสั่งให้ฟ้องได้ใหม่ตามมาตรา 148 หาใช่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำฟ้องไม่ พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์