แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทแม้โจทก์จะได้เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาว่าจำเลยบุกรุกมาแล้ว และในดคีอาญานั้นแม้ศาลจะได้พิจารณายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดทางอาญาโดยมิได้กล่าวถึงสิทธิในทางแพ่งแต่อย่างใด ต่อมาโจทก์จึงฟ้องคดีแพ่งขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท ดังนี้การที่จะวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 47
เมื่อที่พิพาทเป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ ป.พ.พ.บรรพ 4 และ พ.ร.บ. ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 แล้ว ดังนี้แม้ที่พิพาทจะเป็นที่มือเปล่าก็ตาม ก็ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 มาใช้บังคับคดีโดยถืออายุความสละที่ดิน 9 ปี 10 ปีไม่ใช่อายุความ 1 ปี ตามนัยฎีกาที่ 759/2494.
(ฎีกาที่ 759/2494)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ๑ แปลง เนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๑๒ วาโดยได้รับโอนมาจากหลวงสุนทรธนผลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ราคา ๒๐,๐๐๐ บาทต่อมาระหว่างวันที่ ๑ พ.ย. ๒๔๙๕ ถึงวันที่ ๑๕ เม.ย. ๒๔๙๖ จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปปลูกห้องแถวชั้นเดียว ๓ ห้องในที่ดินของโจทก์ทั้งหมด โจทก์บอกให้จำเลยออก จำเลยไม่ยอมออก โจทก์ได้ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดอาญา จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดิน และให้จำเลยรื้อถอนห้องแถวกับห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่าจำเลยซื้อที่พิพาทจากนายหนูแดงผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง โจทก์ไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลย ที่ดินรายนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่านายหนูแดงเจ้าของเดิมได้เข้าถากถางเพื่อเจตนาเป็นเจ้าของ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีที่อัยการฟ้องจำเลยหาว่าบุกรุกที่ดินรายนี้ว่าเป็นที่ดินที่นายหนูแดงขายให้จำเลย จึงจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญามาเป็นหลักวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง แต่กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม จำเลยครอบครองที่พิพาทมาเกิน ๑ ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท ให้จำเลยรื้อถอนห้องแถวออกไปจากที่ดินและห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ ๓๐๐ บาท แทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมหลวงสุนทรธนผลมีที่ดินรวมทั้งที่พิพาทด้วยประมาณ ๘๐ ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นายหนูแดงบุกรุก หลวงสุนทรธนผลจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานให้ดำเนินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกา โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอ้างเหตุว่า การเข้ายึดถือที่ดินของนายหนูแดงไม่เป็นการบังอาจ จึงไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยถึงสิทธิในรายพิพาทว่าเป็นของใคร ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแดงที่ ๖๘๑/๒๔๘๒ และในสำนวนของศาลชั้นต้นคดีแดงที่ ๑๒๒๘/๒๔๘๑ ต่อมาหลวงสุนทรธนผลได้ขายที่พิพาทให้โจทก์เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท ระหว่างเดือน พ.ย. ๒๔๙๖ นายไสวจำเลยได้สมคบกับพวกบุกรุกเข้ามาปลูกห้องแถวชั้นเดียว ๓ ห้องในที่พิพาท โจทก์ร้องทุกข์ อัยการฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดทางอาญาโดยมิได้กล่าวถึงสิทธิในทางแพ่งเลย โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยในทางแพ่ง ดังนี้ จะนำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาตามสำนวนคดีแดงที่ ๖๘๑/๒๔๘๒ และคดีแดงที่ ๑๒๓๗/๒๔๙๗ ของศาลจังหวัดอุดรธานีมาเป็นหลักพิพากษาคดีนี้หาได้ไม่ โดยเหตุที่ ป.วิ.อาญา มาตรา ๔๗ บัญญัติว่า
“คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่” พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทรายนี้เดิมเป็นของหลวงสุนทรธนผล
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า อายุความฟ้องร้องคดีนี้มีเพียง ๑ ปี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาทนี้หลวงสุนทรธนผลได้ครอบครองทำที่ดินให้เป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ และ พ.ร.บ. ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้ว แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินมือเปล่า ก็ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ ๔๒ มาใช้บังคับคดีโดยถืออายุความสละที่ดิน ๙ ปี ๑๐ ปี หาใช้อายุความ ๑ ปีดังจำเลยฎีกาไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๙/๒๔๙๔ ระหว่างนายกอบ ตั๋นกันทะ โจทก์ นายส่างละ ละเผ่กับพวก จำเลย พิพากษายืนให้ยกฎีกาจำเลย ฯลฯ.