คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น เมื่อมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจที่จะถอดถอนหรือสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้
พินัยกรรมมีข้อความว่า “ข้อ 3 เงินผลประโยชน์ที่เก็บได้จากพื้นที่และตึกเรือนโรงดั่งกล่าวไว้ใน ข้อ 1 นั้นเวลานี้ได้ประมาณ 1,800 บาท ซึ่งได้กำหนดส่วนแบ่งให้แก่ 1. หม่อมราชวงศ์กระจ่าง 2. หม่อมราชวงศ์กระจัด สองคนนี้คนหนึ่งเดือนละ 40 บาท แบ่งให้แก่บุตร คือ1. ฯลฯ แปดคนนี้คนหนึ่งเดือนละ 10 บาท ฯลฯ” ดังนี้ถือว่า การที่ผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมจะได้คนละเท่าใดนั้นมิได้กำหนดเป็นจำนวนบาทตายตัวตลอดไปหากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า “เวลานี้ได้ประมาณ 1,800 บาท” เป็นหลัก นอกจากนั้น ข้อความในพินัยกรรม ข้อ 4 ยังกล่าวอีกว่า”ถ้าจำนวนเงินผลประโยชน์ที่ได้จากพื้นที่จะลดน้อยลงไปจากหลักที่กำหนด ก็ให้แบ่งให้แก่ผู้มีส่วนได้ลดลงตามส่วน ที่จะพึงแบ่งได้ในเวลานั้นทุกประการ” แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมโดยชัดว่า มิประสงค์จะกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เป็นจำนวนบาทตายตัวตามที่ระบุไว้นั้นเวลาทำพินัยกรรมเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ดินที่ปรากฏในพินัยกรรมมีผลประโยชน์เดือนละ 1,800 บาท เวลาปัจจุบันนี้ความจริงมีผลประโยชน์เท่าใด ผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมก็มีสิทธิที่จะได้ตามอัตราส่วนตามค่าของเงินที่ระบุไว้นั้น

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.หลาบ กุญชร) ร่วมกับนายศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม

นายศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา คัดค้านว่า ไม่มีเหตุจะตั้งผู้จัดการร่วมให้ผิดไปจากดำรัสในพินัยกรรม

ศาลชั้นต้นสั่งให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท และสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น เมื่อมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจที่จะถอดถอนหรือสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้ โจทก์ร้องว่า ทายาทผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมในเวลานี้ได้รับส่วนแบ่งปันคนละ 50 บาท 40 บาท 10 บาท ต่อเดือน อยู่เช่นเดิมเหมือนเมื่อสมัย 30 ปีก่อน จำเลยคัดค้านก็ยืนยันว่า การกระทำของจำเลยได้ปฏิบัติตามพินัยกรรมทุกประการซึ่งแสดงว่า จำเลยมีความเห็นว่า ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมทายาทควรมีส่วนได้เงินแบ่งปันเท่าใดสมัย 30 ปี ก่อน ถ้าความเห็นของจำเลยไม่ถูกต้อง คำร้องของโจทก์ที่ขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดกก็มี เหตุผลเพียงพอที่ศาลจะสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้ ตามพินัยกรรมใช้ถ้อยคำว่า ข้อ 3 เงินผลประโยชน์ที่เก็บได้จากพื้นที่และตึกเรือนโรงดังกล่าวไว้ใน ข้อ 1 นั้น เวลานี้ได้ประมาณ 1,800 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยบาทถ้วน) ซึ่งกำหนดส่วนแบ่งไว้ดังนี้ คือ แบ่งให้ 1 หม่อมราชวงศ์กระจ่าง 2 หม่อมราชวงศ์กระจัดสองคนนี้ คนหนึ่งเดือนละ 40 บาท แบ่งให้แก่บุตร คือ 1. ฯลฯ แปดคนนี้คนหนึ่งเดือนละ 10 บาท ฯลฯ ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้มีส่วนตามพินัยกรรมจะได้คนละเท่าใดนั้น มิได้กำหนดเป็นจำนวนบาทตายตัวตลอดไป หากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า “เวลานี้ได้ประมาณ 1,800 บาท” เป็นหลัก นอกจากนั้นในพินัยกรรม ข้อ 4 กล่าวไว้อีกว่า “ถ้าจำนวนเงินผลประโยชน์ที่ได้จากพื้นที่จะลดน้อยลงไปจากหลักที่กำหนด ก็ให้แบ่งให้แก่ผู้มีส่วนได้ลดตามส่วนที่จะพึงแบ่งได้ในเวลานั้นทุกประการแสดงเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมโดยชัดว่า มิได้ประสงค์จะกำหนดให้แก่ผู้มีส่วนได้เป็นจำนวนตายตัวตามที่ระบุไว้นั้น

พิพากษายืน

Share