คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277-1278/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าจ้างเป็นเงินซึ่งกำหนดขึ้นตามข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตราบใดที่การจ้างยังไม่ระงับนายจ้างผูกพันต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแม้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องหยุดกิจการเพราะโรงงานถูกเพลิงไหม้จนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้แต่เมื่อจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างการจ้างจึงยังไม่ระงับและไม่ปรากฏตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าในกรณีเช่นนี้จำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างจำเลยจึงจะอ้างเหตุที่จำเลยประสบภัยเป็นข้ออ้างเพื่อไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับช่วงระยะเวลาที่จำเลยหยุดกิจการและโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยเป็นการเรียกร้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงไม่ถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายและเมื่อค่าจ้างกำหนดอัตราแน่นอนและตายตัวศาลจะใช้ดุลพินิจลดอัตราค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นค่าเสียหายหาได้ไม่ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุคลุมๆแต่เพียงว่าให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างแต่ละงวดนับตั้งแต่วันผิดนัดมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าค่าจ้างแต่ละงวดเป็นเงินเท่าใดและจำเลยผิดนัดงวดใดตั้งแต่วันใดนั้นไม่ละเอียดชัดแจ้งเพียงพอศาลย่อมพิพากษาตามคำขอของโจทก์ไม่ได้แต่ในวันที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างนั้นค่าจ้างถึงกำหนดจ่ายแล้วการที่จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์ตามกำหนดถือว่าจำเลยผิดนัดจำเลยจึงต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นต้นไป.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 3 และวันที่ 18ของเดือน ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2527 จำเลยมีคำสั่งปิดโรงงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งจำเลยถือว่าโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดิม แต่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสองสำนวน พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดคนเป็นลูกจ้างของจำเลยจริง สาเหตุที่จำเลยงดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเพราะเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2527 ได้เกิดเพลิงไหม้โรงงานทอผ้าของจำเลยที่ 1ทำให้โรงงาน เครื่องจักร และวัสดุต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท จำเลยไม่สามารถซ่อมแซมและเปิดดำเนินการต่อไปได้จำเลยจ้างโจทก์โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้รับผลจากการทำงานเป็นค่าตอบแทน เมื่อโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย ข้อตกลงในการจ่ายค่าจ้างย่อมไร้ผล โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างและดอกเบี้ยจากจำเลย และฟ้องของโจทก์สำนวนหลังเป็นฟ้องซ้อนกับสำนวนแรก ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นเพียงหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้าง จำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์สำนวนหลังไม่เป็นฟ้องซ้อนกับสำนวนแรก โจทก์ที่ 4 และที่ 10 ไม่มีพยานมาสืบ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 4 และที่ 10 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่6 โจทก์ที่ 12 โจทก์ที่ 46 พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 4 และที่ 10
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 12 และที่ 46 ทั้งสองสำนวน และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนว่า การที่จำเลยหยุดกิจการเพราะโรงงานของจำเลยถูกเพลิงไหม้จนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้นั้น จะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับช่วงระยะเวลาที่จำเลยหยุดกิจการหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าค่าจ้างเป็นเงินซึ่งกำหนดขึ้นตามข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉะนั้น ตราบใดที่การจ้างยังไม่ระงับจำเลยผูกพันต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจะมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างต่อเมื่อสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ ตามข้อเท็จจริงซึ่งได้ความว่า จำเลยหยุดกิจการเพราะโรงงานของจำเลยถูกเพลิงไหม้จนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้นั้น เมื่อจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้การจ้างเป็นอันระงับ แม้โจทก์จะมิได้ทำงานให้แก่จำเลย แต่โจทก์พร้อมที่จะทำงานตามหน้าที่ให้แก่จำเลย การที่จำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทำซึ่งไม่ใช่เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจะถือเป็นเหตุงดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หาได้ไม่ อีกประการหนึ่งไม่ปรากฏตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าในกรณีเช่นนี้จำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง จำเลยจะอ้างเหตุที่จำเลยประสบภัยเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นั้นย่อมไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6ที่ 12 และที่ 46 ว่า ศาลแรงงานกลางมีอำนาจลดจำนวนค่าจ้างซึ่งจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลยในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ซึ่งจำเลยค้างชำระ ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าค่าจ้างที่โจทก์เรียกร้องเป็นค่าจ้างสำหรับช่วงระยะเวลาที่จำเลยหยุดกิจการและโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยก็ตาม แต่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จะถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหาได้ไม่ เมื่อค่าจ้างกำหนดอัตราแน่นอนและตายตัว ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจลดอัตราค่าจ้างซึ่งจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นค่าเสียหายหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยรับผิดในอัตราร้อยละ 25 ของอัตราค่าจ้างปกติย่อมไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวฟังขึ้นอย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นสมควรคำนวณค่าจ้างซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปศาลแรงงานกลางดังนี้คือโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 136.66 บาทเป็นเวลา 218 วัน เป็นเงิน 29,791.88 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 366.66 บาท เป็นเวลา 218 วัน เป็นเงิน 79,931.88บาท โจทก์ที่ 6 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 100 บาท เป็นเวลา218 วัน เป็นเงิน 21,800 บาท โจทก์ที่ 12 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 85 บาท เป็นเวลา 218 วัน เป็นเงิน 18,530 บาทและโจทก์ที่ 46ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 66 บาท เป็นเวลา 218 วัน เป็นเงิน14,388 บาท
ข้อที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 12 และที่ 46 อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ไม่ถูกต้องเพราะค่าจ้างแต่ละงวดถึงกำหนดชำระแล้ว การที่จำเลยไม่จ่ายถือว่าจำเลยผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างแต่ละงวด โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้อง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ คงอุทธรณ์เฉพาะวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ย ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ระบุคลุม ๆ ว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างแต่ละงวดนับตั้งแต่วันผิดนัด โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าค่าจ้างแต่ละงวดเป็นเงินเท่าใด และจำเลยผิดนัดงวดใดตั้งแต่วันใด เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ละเอียดชัดแจ้งเพียงพอศาลย่อมพิพากษาตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างตามสำนวนคดีหลัง ค่าจ้างถึงกำหนดจ่ายแล้ว การที่จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์ตามกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัด เมื่อไม่ปรากฏวันผิดนัดที่แน่นอนศาลฎีกาจึงให้จำเลยรับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีสำนวนหลังเป็นต้นไป.”

Share