แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 บัญญัติว่า “ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์แก่ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้” และมาตรา 77 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การจำหน่ายทรัพย์สินตามมาตรา 76 ให้ บสท. ประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย โดยลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน” โจทก์ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่ 16 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 รวมสามวันติดต่อกัน และลงโฆษณาทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 โดยกำหนดวันขายทอดตลาดเป็นวันที่ 3 สิงหาคม 2550 ซึ่งตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลงโฆษณาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย ดังนี้ สำหรับการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เมื่อนับจากวันที่สามคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 จึงเป็นการประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย แต่สำหรับการลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 แม้หากจะถือว่าการลงโฆษณาดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไป วันที่สามก็คือวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับจากวันดังกล่าวไปสิบห้าวัน วันที่ขายทอดตลาดได้อย่างเร็วที่สุดก็คือวันที่ 5 สิงหาคม 2550 ดังนั้น การลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้มาเป็นของตนแทนการจำหน่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8788 และ 9078 ตำบลคลองสาน (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 287,221 บาท และชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 78,333 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8788 และ 9078 ตำบลคลองสาน (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2550 จนกว่าจะขนย้ายและส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาจำนวน 6,115 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8788 และ 9078 ตำบลคลองสาน (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร ของจำเลย ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ส่วนที่ 3 มาตรา 76 บัญญัติว่า “ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์แก่ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้” และมาตรา 77 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การจำหน่ายทรัพย์สินตามมาตรา 76 ให้ บสท. ประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย โดยลงโฆษณาในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน” สำหรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้จากคำเบิกความของนายอภิเดช ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า ก่อนจะบังคับขายทอดตลาดเอาแก่ที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยได้ โจทก์ได้ลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ศาลฎีกาตรวจพิเคราะห์เอกสารดังกล่าวปรากฏว่า มีลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันจันทร์ที่ 16 ถึงวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2550 รวมสามวันติดต่อกัน และลงโฆษณาทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 จะเห็นได้ว่า โจทก์กำหนดวันขายทอดตลาดคือวันที่ 3 สิงหาคม 2550 แต่ตามบทบัญญัติมาตรา 77 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ต้องลงโฆษณาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันจำหน่าย ดังนี้ สำหรับการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันเมื่อนับจากวันที่สาม คือ วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 จึงเป็นประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนถึงวันจำหน่าย แต่สำหรับการลงโฆษณาทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 แม้หากจะถือว่าการลงโฆษณาดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไป มิใช่สิ้นสุดเพียงวันที่ 18 เท่านั้น วันที่สามก็คือวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 เมื่อนับจากวันดังกล่าวไปสิบห้าวัน วันที่ขายทอดตลาดได้อย่างเร็วที่สุดก็คือวันที่ 5 สิงหาคม 2550 ดังนั้น การลงโฆษณาทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้น แม้พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารตราออกมาโดยอ้างเหตุเพื่อแก้ไขวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และในมาตรา 5 บัญญัติให้จัดตั้งโจทก์ขึ้นมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน กับในมาตรา 76 ให้อำนาจโจทก์รับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันโดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินจำนองหรือจำนำไว้เองได้โดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่ศาลยุติธรรม อันเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากหลักนิติธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติคุ้มครองไว้ การบังคับใช้กฎหมายในกรณีผิดปกติเช่นนี้ จึงต้องถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุเป็นสาระสำคัญไว้ ดังนี้ เมื่อการลงโฆษณาในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงในคดีนี้มาเป็นของตนแทนการจำหน่าย แม้เจ้าพนักงานที่ดินจะดำเนินการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 ให้โจทก์เป็นเจ้าของโดยการรับโอนดังกล่าว ก็หามีผลตามกฎหมายให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ขับไล่จำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ