คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5671/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากที่ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานยึดรถยนต์ของกลางเนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแล้วอันเป็นเหตุที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามข้อ 3. ของสัญญาเช่าซื้อ แต่ผู้ร้องก็ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว ยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อต่อไป โดยผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงว่าผู้เช่าซื้อไม่ได้ร่วมหรือเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาได้ การที่ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่บอกเลิกสัญญา และมาขอคืนรถยนต์ของกลาง ซึ่งหากศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางตามคำร้องของผู้ร้องและผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รถยนต์ของกลางย่อมตกเป็นของผู้เช่าซื้อ พฤติกรรมของผู้ร้องมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อโดยต้องการได้แต่ค่าเช่าซื้อเท่านั้น ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการขอคืนของกลาง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ผู้ร้องย่อมมีภาระการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ตามพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมากลับปรากฏพฤติการณ์การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ร้อง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสอง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ธบ 4301 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน ธบ 4301 กรุงเทพมหานคร ของกลาง ผู้ร้องให้นายจตุรงค์ เช่าซื้อรถยนต์ของกลางไป ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและโจทก์มิได้โต้เถียงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ หมายเลขทะเบียน ธบ 4301 กรุงเทพมหานคร ของกลาง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ให้นายจตุรงค์ เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง ในราคา 425,031.64 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละ 9,659.81 บาท รวม 44 งวด เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2549 และงวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่ 30 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2550 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกนำรถยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2550 จำเลยยื่นคำร้องขอคืนของกลางวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และให้ริบรถยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องคงมีพยานหลักฐานเฉพาะนายอัษฎาวุธ ทนายผู้ร้อง เพียงปากเดียวเบิกความประกอบพยานเอกสารได้ความเพียงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ได้ให้นายจตุรงค์เช่าซื้อไป และพยานดังกล่าวเบิกความอ้างว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดในคดีนี้เท่านั้น แต่ได้ตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ปัจจุบันก็ยังชำระอยู่ ปรากฏว่าพยานผู้ร้องมาเบิกความต่อศาลในวันที่ 15 ตุลาคม 2550 แสดงว่าหลังจากที่ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานยึดรถยนต์ของกลางเนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแล้ว ผู้ร้องยังคงรับค่าเช่าซื้อต่อไป อันเป็นเหตุที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้เช่าซื้อได้ตามข้อ 3. ของสัญญาเช่าซื้อ แต่ผู้ร้องก็ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว โดยผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงว่าผู้เช่าซื้อไม่ได้ร่วมหรือเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกนำรถยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อาจบอกเลิกสัญญา การที่ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่บอกเลิกสัญญา และมาขอคืนรถยนต์ของกลาง หากศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางตามคำร้องของผู้ร้องและผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รถยนต์ของกลางย่อมตกเป็นของผู้เช่าซื้อ พฤติกรรมของผู้ร้องมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อโดยต้องการได้แต่ค่าเช่าซื้อเท่านั้น ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการขอคืนของกลาง ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างทำนองว่าความจริงผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายในงวดที่ 17 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 18 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นต้นมา เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ขัดกับคำเบิกความของนายอัษฎาวุธพยานผู้ร้องเองดังกล่าวและที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่า นายจตุรงค์ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ในชั้นไต่สวนผู้ร้องก็ไม่ได้นำนายจตุรงค์มาเบิกความเป็นพยานหรือนำสืบในเรื่องดังกล่าวตามที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ผู้ร้องย่อมมีภาระการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ตามพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมากลับปรากฏพฤติการณ์การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share