คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย ในที่สุดได้ทำสัญญาไว้ต่อกันเป็นข้อสารสำคัญว่า โจทก์จำเลยยอมคืนดีเป็นสามีภริยากันดังเดิม และข้อความในหนังสือสัญญานั้นได้กล่าวไว้ชัดว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อระงับการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์จำเลย ไม่ต้องเป็นความกันต่อไป โจทก์จำเลยจึงได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกันเป็นสัดส่วน กล่าวคือให้โจทก์ได้วัวที่มีตัวพิมพ์รูปพรรณ 16 ตัว ฯลฯ นอกจากทรัพย์ดังกล่าวนี้แล้ว โจทก์ไม่ขอเอาอีกต่อไป หนังสือสัญญานี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
ข้อความในสัญญาที่ว่าจำเลยและโจทก์ได้ตกลงพร้อมใจกันทำหนังสือยกทรัพย์สินสมรสและสินเดิมให้แก่โจทก์ ฯลฯ นอกจากทรัพย์ที่โจทก์ได้รับไปนี้แล้ว ไม่ขอเอาอีกต่อไป เห็นว่าเมื่อข้อสัญาระบุชัดว่าโจทก์จะไม่เอาทรัพย์อื่นนอกจากที่โจทก์ได้รับตามสัญญานี้ ก็เท่ากับยอมให้ทรัพย์พิพาทอันเป็นทรัพย์ที่มีอยู่แล้วในขณะที่ทำสัญญานั้น ตกเป็นสิทธิของจำเลยฝ่ายเดียว โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทอีกไม่ได้
สัญญาที่ทำไว้ต่อกันระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อไม่บอกล้างภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันขาดจากการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ก็ต้องถือว่ายังคงบังคับได้อยู่เสมอ (ข้อกฎหมายตามวรรค 2 และ 3 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2521)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๔ โจทก์ได้สมรสกับจำเลย โจทก์มีสินเดิมฝ่ายเดียว อยู่กันกันมามีบุตรหลายคน และมีทรัพย์สินบริคณห์เพิ่มมากขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย จำเลยไม่ยอมหย่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันต่อไป จนกระทั่งวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๐๔ โจทก์จำเลยจึงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน แต่ยังมิได้แบ่งแยกทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๐๐ และ ๘๓ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นสินสมรส โดยยังคงร่วมกันยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างโจทก์จำเลยและบุตรตลอดมา โจทก์มีความประสงค์จะขอแบ่งที่ดินสินสมรสส่วนของโจทก์ ๑ ใน ๓ แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยสมรสกันเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ จริง แต่โจทก์ไม่มีสินเดิม จำเลยมีสินเดิมฝ่ายเดียว โจทก์จำเลยอยู่กินกันมาจนถึง พ.ศ.๒๔๗๔ ก็ได้ทิ้งร้างกัน จำเลยได้ภริยาใหม่ ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและภริยาใหม่ทำมาหาได้ร่วมกัน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งสินสมรส ได้ตกลงประนีประนอมกัน โดยจำเลยยอมรับโจทก์เป็นภริยาต่อไป และยอมยกสินบริคณห์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ เว้นแต่ที่พิพาท ๒ แปลง ซึ่งเป็นที่ดินที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์สัญญาว่าจะไม่ฟ้องร้องขอแบ่งทรัพย์อย่างใดอีก ฯลฯ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยสมรสกันเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ โจทก์ได้ฟ้องหย่าขาดจากจำเลย และโจทก์กับจำเลยทำหนังสือสัญญาลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๕ ตามเอกสารหมาย ล.๒ ใจความว่า จำเลยตกลงยกสินสมรสและสินเดิมตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จำเลยกลับทำอยู่กินกันอีกประมาณ ๑๙ ปี มีบุตรด้วยกันอีก ๑ คน เพิ่มจากที่เคยมีบุตรด้วยกันมาแล้ว ๗ คน ต่อมาโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๐๔ ที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลงเป็นทรัพย์นอกเหนือจากที่จำเลยตกลงยกให้แก่โจทก์ตามสัญญาหมาย ล.๒ โดยจำเลยซื้อที่พิพาทเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย ปัญหาว่าหนังสือสัญญาหมาย ล.๒ เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาหรือไม่ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในหนังสือสัญญาเอกสารหมาย ล.๒ กล่าวไว้ชัดว่า เป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อระงับการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์จำเลยไม่ให้ต้องเป็นความกันต่อไป โจทก์จำเลยจึงตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเป็นส่วนสัด กล่าวคือให้โจทก์ได้วัวที่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณแล้ว ๑๖ ตัว ฯลฯ นอกจากทรัพย์ดังกล่าวไม่ขอเอาอีกต่อไป หนังสือสัญญานี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ข้อความตอนต้นของสัญญาที่ว่า จำเลยและโจทก์ได้ตกลงพร้อมใจกันทำหนังสือยกทรัพย์สินสมรสและสินเดิมให้แก่โจทก์ ฯลฯ นอกจากทรัพย์ที่โจทก์ได้รับไปนี้แล้ว ไม่ขอเอาอีกต่อไป ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อตามข้อสัญญาระบุชัดว่า โจทก์จะไม่เอาทรัพย์อื่นนอกจากที่โจทก์ได้รับตามสัญญานี้ ก็เท่ากับยอมให้ทรัพย์พิพาทอันเป็นทรัพย์ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญานั้น ตกเป็นสิทธิของจำเลยไปฝ่ายเดียว โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทอีกไม่ได้ นอกจากนั้นสัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาที่ได้ทำไว้ระหว่างเป็นสามีภริยากัน เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกล้างภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๑ ก็ต้องถือว่าสัญญานี้คงใช้บังคับได้อยู่เสมอ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาท ฯลฯ
พิพากษายืน

Share