คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ การดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนการแจ้งความใด ๆ ให้คู่กรณีทราบ ย่อมต้องเป็นไปตามข้อบังคับตามข้อตกลงที่ให้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น
ข้อบังคับของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศในเรื่องอนุญาโตตุลาการกำหนดว่า อนุญาโตตุลาการต้องไม่ทำหน้าที่ในกรณีที่ตนมีส่วนได้เสียกับข้อพิพาทนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคู่กรณี และลูกจ้างของสมาชิกสมาคมใดจะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักรสำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการขายหรือซื้อยางพาราไม่ได้ แสดงว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านมิให้ทำหน้าที่ได้ จึงเป็นสิทธิในเบื้องต้นของคู่กรณีในอันที่จะได้ทราบชื่อบุคคลผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการข้อบังคับดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่าหนังสือแจ้ง เอกสาร หรือหมายต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการที่ต้องส่งให้ฝ่ายที่อาศัยอยู่นอกประเทศอังกฤษ กรณีที่ไม่มีผู้แทนอยู่ในกรุงลอนดอน ให้จ่าหน้าตามที่อยู่เดิมถึงบุคคลนั้นแล้วส่งไปที่สำนักงานของสมาคมและไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้ส่งคู่ฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนจ่าหน้าถึงบุคคลนั้นโดยส่งไปยังที่อยู่อาศัยหรือที่ทำการธุรกิจล่าสุดที่ทราบ ย่อมเห็นได้ว่าจะต้องมีการแจ้งชื่อของอนุญาโตตุลาการ วิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนกำหนดวันเวลาและสถานที่พิจารณาให้คู่กรณีทราบ สำหรับผู้คัดค้านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกประเทศอังกฤษและไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนในกรุงลอนดอนย่อมต้องมีการส่งคู่ฉบับของหนังสือแจ้งเอกสารหรือหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานของผู้คัดค้านด้วย แต่ตามเรื่องราวที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคงมีเพียงหนังสือและโทรสารลงวันที่เดียวกันจากสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการแจ้งเพียงว่าได้มีการเสนอข้อพิพาทรายนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้วเท่านั้น หาได้มีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นไม่ ส่วนหนังสือจากสมาคมค้ายางระหว่างประเทศ แม้จะมีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวครบถ้วนแล้ว แต่ผู้คัดค้านก็ปฏิเสธอยู่ว่าไม่เคยได้รับ เมื่อการส่งหนังสือฉบับนี้โดยทางโทรสารถึงผู้คัดค้านไม่อาจกระทำได้ และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการส่งหนังสือฉบับนี้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้คัดค้านด้วย แม้กรรมการบริหารสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศจะบันทึกรับรองไว้ในหนังสือฉบับนี้ด้วยว่า ได้ส่งทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้คัดค้านแล้วแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อรับฟังไม่ได้ว่ามีการแจ้งให้ผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจที่จะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 34(3)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยชำระเงินแก่ผู้ร้อง 46,982.92 ดอลลาร์สหรัฐ (1,204,172.23 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน42,933.64 ดอลลาร์สหรัฐ (1,100,389.19 บาท) นับถัดจากวันยื่นคำร้องขอจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ 350 ปอนด์สเตอร์ลิง (13,760.92 บาท)

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่เคยแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการและการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านไม่มีโอกาสเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาซื้อขายน้ำยางโดยกำหนดส่งน้ำยางที่ท่าเรือเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้โดยมีข้อกำหนดให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างประเทศสำหรับการรักษาน้ำยางบรรจุถังซึ่งตามสัญญาระหว่างประเทศสำหรับการรักษาน้ำยางบรรจุถัง ข้อ 12 เรื่องอนุญาโตตุลาการ มิได้กำหนดให้อนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ขอให้ปฏิเสธคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยชำระเงินจำนวน 42,933.64 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระให้ผู้ร้องเสร็จ และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ 350 ปอนด์สเตอร์ลิงแก่ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ10,000 บาท

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 ผู้คัดค้านตกลงขายน้ำยางพาราคุณภาพดี127,920 กิโลกรัม แก่ผู้ร้อง ส่งมอบ ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้สัญญาซื้อขายดังกล่าวมีข้อตกลงพิเศษของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยต่อมาผู้ร้องส่งน้ำยางพาราคืนแก่ผู้คัดค้านโดยอ้างว่าเป็นน้ำยางพาราที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และเรียกค่าเสียหาย 162,008.08 ดอลลาร์สหรัฐ จากผู้คัดค้านผู้คัดค้านใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องแล้วบางส่วนคงค้างชำระอยู่อีก 42,933.64ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยเสนอต่อสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอนในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 นายสมพร ธรรมชาติ กรรมการผู้จัดการของผู้คัดค้านได้รับแจ้งจากตัวแทนของผู้ร้องว่า มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนแล้ว และวันรุ่งขึ้นก็ได้รับแจ้งเป็นหนังสือถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง แต่ผู้คัดค้านมิได้ตอบหนังสือดังกล่าว ต่อมาวันที่ 29 เดือนเดียวกันสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศทำหนังสือแจ้งผู้คัดค้านว่า อนุญาโตตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 6 มีนาคม 2539 เวลา 14.30 นาฬิกาณ สำนักงานของเลวิสแอนด์พีท (รับเบอร์) ลิมิเต็ด ชั้นที่ 4 ลอน์นเดสเฮ้าส์ 1/9 ซิตี้โรด ลอนดอน อีซี 1 วาย 1 เอเอ และแจ้งชื่ออนุญาโตตุลาการทั้งสองคนด้วย แต่หนังสือฉบับนี้ไม่สามารถส่งให้ผู้คัดค้านทางโทรสารได้ในวันนั้น รุ่งขึ้นวันที่ 1มีนาคม 2539 จึงมีการส่งหนังสือดังกล่าวไปให้ผู้คัดค้านทางไปรษณีย์ในวันนัดพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่มีผู้คัดค้านหรือตัวแทนไปร่วมในการพิจารณาวันที่ 8 เดือนเดียวกัน อนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 46,982.92 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10มิถุนายน 2501 (ค.ศ. 1958)

คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ เห็นว่าข้อตกลงให้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ อันเป็นกรณีพิพาทคดีนี้เป็นข้อบังคับของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ การดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนการแจ้งความใด ๆ ให้คู่กรณีทราบ ย่อมต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้เมื่อพิจารณาถึงข้อบังคับของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศในเรื่องอนุญาโตตุลาการแล้ว ข้อ 63 (A) กำหนดว่า อนุญาโตตุลาการต้องไม่ทำหน้าที่ในกรณีที่ตนมีส่วนได้เสียกับข้อพิพาทนั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคู่กรณี และในข้อ 63 (N) กำหนดว่าลูกจ้างของสมาชิกสมาคมใดจะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในสหราชอาณาจักร สำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการขายหรือซื้อยางพาราไม่ได้ ฯลฯ แสดงว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านมิให้ทำหน้าที่ได้ จึงเป็นสิทธิในเบื้องต้นของคู่กรณีในอันที่จะได้ทราบชื่อบุคคลผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้ข้อ 63 (Q) ยังกำหนดด้วยว่าหนังสือแจ้ง เอกสาร หรือหมายต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการที่ต้องส่งให้ฝ่ายที่อาศัยอยู่นอกประเทศอังกฤษ กรณีที่ไม่มีผู้แทนอยู่ในกรุงลอนดอนให้จ่าหน้าตามที่อยู่เดิมถึงบุคคลนั้นแล้วส่งไปที่สำนักงานของสมาคม และไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้ส่งคู่ฉบับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนจ่าหน้าถึงบุคคลนั้นโดยส่งไปยังที่อยู่อาศัยหรือที่ทำการธุรกิจล่าสุดที่ทราบตามข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ว่า จะต้องมีการแจ้งชื่อของอนุญาโตตุลาการ วิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนกำหนดวันเวลาและสถานที่พิจารณาให้คู่กรณีทราบสำหรับผู้คัดค้านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกประเทศอังกฤษและไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนในกรุงลอนดอนย่อมต้องมีการส่งคู่ฉบับของหนังสือแจ้งเอกสารหรือหมายต่าง ๆเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานของผู้คัดค้านด้วย เกี่ยวกับเรื่องราวที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคงมีเพียงหนังสือลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 และโทรสารลงวันที่ 22 เดือนเดียวกันจากสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศตามลำดับ ซึ่งเป็นการแจ้งเพียงว่าได้มีการเสนอข้อพิพาทรายนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้วเท่านั้น หาได้มีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นไม่ ส่วนหนังสือลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539แม้จะมีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวครบถ้วนแล้วแต่ผู้คัดค้านก็ปฏิเสธอยู่ว่าไม่เคยได้รับ เมื่อการส่งหนังสือฉบับนี้โดยทางโทรสารถึงผู้คัดค้านไม่อาจกระทำได้ และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการส่งหนังสือฉบับนี้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้คัดค้านด้วย แม้นาย เจ. เอ็ม. ฮอบส์ กรรมการบริหารสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศจะบันทึกรับรองไว้ในหนังสือฉบับนี้ด้วยว่า ได้ส่งทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2539 ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วหรือไม่จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการแจ้งให้ผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีเช่นนี้ศาลจึงมีอำนาจที่จะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 34(3)

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

Share