แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือที่มีวงเงินในการเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก เป็นการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องดังกล่าวว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสิบสามคนพร้อมเงินสด 28,000 บาท และอุปกรณ์ในการเล่นการพนัน นอกจากนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 5 ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นการให้เหตุผลถึงการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องและคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 ประกอบมาตรา 215 พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสิบสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง), 5, 6, 10, 12 (ที่ถูก มาตรา 12 (2)), 15 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือ จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 13 เป็นผู้เข้าเล่น ปรับคนละ 1,600 บาท จำเลยทั้งสิบสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 ปรับคนละ 800 บาท หากจำเลยทั้งสิบสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสิบสามจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 ผู้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด รับรองให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ให้ยกคำขอในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้มีพยานยืนยันข้อเท็จจริงเหล่านั้น และลงโทษจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 5 ซึ่งศาลชั้นต้นมิได้หยิบยกลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เล่นการพนันไฮโลว์โดยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ จำเลยที่ 1 จึงมีส่วนสำคัญในการมอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงในอบายมุข โดยมุ่งประโยชน์ในส่วนตนในทางที่ผิดเพียงอย่างเดียว โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่อาจติดตามมาจากการเล่นการพนันอีกนานัปการ กับปรากฏว่าในการจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 13 คน ได้พร้อมเงินสดในวงการเล่นพนันเป็นเงิน 28,000 บาท พร้อมอุปกรณ์ในการเล่นการพนัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือที่มีวงเงินในการเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยที่ 1 นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่สมควรปรานีรอการลงโทษ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 เปิดบ่อนการพนันมีลักษณะเป็นบ่อนอาชีพจัดตั้งอย่างถาวรเพราะเปิดอยู่บนอาคารพาณิชย์ชั้นที่ 3 และชั้นล่างของอาคารเปิดสถานบริการสนุกเกอร์ชื่อ คลาสสิกสนุกเกอร์ ทั้งอาคารอยู่จังหวัดภูเก็ต ขึ้นวินิจฉัยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือที่มีวงเงินในการเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก ก็เป็นการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสิบสามคนพร้อมเงินสด 28,000 บาท และอุปกรณ์ในการเล่นการพนัน นอกจากนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 5 ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นการให้เหตุผลถึงการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องและคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 ประกอบมาตรา 215 พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน