คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12666/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแต่งตั้งจำเลยทั้งห้าและ ป. เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง แม้ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 เป็นเพียงการบกพร่องต่อหน้าที่ในส่วนของผู้ที่มีคำสั่งแต่งตั้ง แต่ตราบใดที่คำสั่งยังไม่ได้ถูกเพิกถอน การใด ๆ ที่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ปฏิบัติไปภายใต้คำสั่งดังกล่าว ย่อมต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว ดังนี้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างดังกล่าวจะชอบหรือไม่จึงเป็นคนละส่วนกันและมิได้มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มิได้อยู่ในบังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม แม้ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 27 (5) กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างสำหรับการซื้อการจ้างโดยวิธีสอบราคา ประกวดราคาและวิธีพิเศษ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 คงกำหนดให้แต่งตั้งผู้แทนชุมชนหรือประชาคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่จะซื้อหรือจ้างเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อยสองคน มิได้กำหนดว่าต้องแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงเป็นในฐานะผู้แทนชุมชนหรือประชาคม มิใช่ในฐานะผู้ใหญ่บ้านท้องที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานด้วยการให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมตรวจรับงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดสำเร็จ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 นับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1618/2551 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 5 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลย ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1618/2551 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ที่ 2 และที่ 11 ตำบลนาอุดม ตามลำดับ จำเลยทั้งห้าและนายประชา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง โครงการก่อสร้างโรงสีข้าวชุมชนตำบลนาอุดม โดยจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมที่ 111/2545 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดงามวงศ์วานก่อสร้าง ก่อสร้างโรงสีข้าวชุมชน 1 โครงการ ประกอบด้วย 1. อาคารโรงสีข้าว 1 หลัง 2. เครื่องจักรสีข้าวขนาด 10 เกวียน 4 ตัน 3. ประตูตะแกรงโยกและตะแกรงกลมพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล 4. ขยายเขตไฟฟ้า ขนาดหม้อแปลง 1 เฟส 2 สาย 30 เค วี เอ พร้อมเสาและอุปกรณ์ประกอบ ตามแบบแปลนขององค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม ในราคา 795,000 บาท ตามสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 จำเลยทั้งห้าร่วมกันตรวจรับงานว่า บัดนี้ผู้รับจ้างได้ทำงานเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2546 คณะกรรมการได้พร้อมกันตรวจรับเป็นที่ถูกต้องตามแบบแปลนและข้อกำหนดแล้ว สมควรจ่ายเงินงวดที่ 3 (งวดสุดท้าย) จำนวน 423,554.25 บาท ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา โดยที่ความจริงแล้วผู้รับจ้างนำเครื่องยนต์ดีเซลเก่ามาติดตั้ง ตามหนังสือสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมุกดาหาร ต่อมานายเวหา ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม และนายบุญหลาย สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมกับพวกตรวจสอบพบว่าเครื่องยนต์ดีเซลที่ผู้รับจ้างนำมาติดตั้งเป็นของเก่า จึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหานายอุทัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมและพวกทุจริตต่อหน้าที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปัจจุบันอาคารและโรงสีตามโครงการโรงสีชุมชนตำบลนาอุดมอยู่ในสภาพชำรุดใช้การไม่ได้และถูกปล่อยทิ้งร้าง โดยคดีสำหรับจำเลยที่ 5 ซึ่งมิได้ฎีกายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 กำหนดว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตามข้อ 21 (7) ต้องมีประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอย่างน้อยสองคน โดยต้องแต่งตั้งจากกรรมการบริหาร พนักงานส่วนตำบล ข้าราชการหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่น สำหรับการซื้อการจ้างโดยวิธีสอบราคา ประกวดราคาและวิธีพิเศษ ให้แต่งตั้งผู้แทนชุมชนหรือประชาคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่จะซื้อหรือจ้าง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อยสองคน การแต่งตั้งจำเลยทั้งห้าเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างไม่ชอบด้วยระเบียบดังกล่าว เพราะมีเพียงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการบริหารเท่านั้นที่เข้าเงื่อนไข ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนายประชามิใช่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ จำเลยทั้งห้าไม่เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า การแต่งตั้งจำเลยทั้งห้าและนายประชาเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างแม้ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 เป็นเพียงการบกพร่องต่อหน้าที่ในส่วนของผู้ที่มีคำสั่งแต่งตั้ง แต่ตราบใดที่คำสั่งยังมิได้ถูกเพิกถอน การใด ๆ ที่คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ปฏิบัติไปภายใต้คำสั่งดังกล่าว ย่อมต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างแล้ว ดังนี้ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างดังกล่าวจะชอบหรือไม่ จึงเป็นคนละส่วนกันและมิได้มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มิได้อยู่ในบังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม แม้ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 27 (5) กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างสำหรับการซื้อการจ้างโดยวิธีสอบราคา ประกวดราคาและวิธีพิเศษ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ข้อ 22 คงกำหนดให้แต่งตั้งผู้แทนชุมชนหรือประชาคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่จะซื้อหรือจ้าง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยอย่างน้อยสองคน มิได้กำหนดว่าต้องแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงเป็นในฐานะผู้แทนชุมชนหรือประชาคม มิใช่ในฐานะผู้ใหญ่บ้านท้องที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานด้วยการให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมตรวจรับงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดสำเร็จ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 8 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกคนละ 5 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share