คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอให้ถอนการบังคับคดีต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 295 แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 6 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นทำนองขอให้ศาลชั้นต้นถอนการบังคับคดีนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ได้อ้างเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 จำเลยที่ 6 จึงไม่อาจร้องขอให้ถอนการบังคับคดีได้ ส่วนที่จำเลยที่ 6 อ้างว่า ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์กับจำเลยที่ 6 ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ และจำเลยที่ 6 ได้ชำระหนี้ตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจมาบังคับคดีแก่จำเลยที่ 6 ได้อีกนั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ทำขึ้นนอกศาลโดยศาลมิได้รับรู้ด้วย โจทก์เองก็ยื่นคำคัดค้านว่า บันทึกดังกล่าว ทนายโจทก์คนเดิมทำขึ้นโดยไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ และทนายมีพฤติการณ์ร่วมมือกับฝ่ายจำเลยฉ้อฉลโจทก์ บันทึกดังกล่าวหากสามารถบังคับกันได้ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 6 จะต้องว่ากล่าวแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่ง กรณีจึงไม่ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 5 และ ที่ 6 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 4,623,532 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5254 ถึงเลขที่ 5259 เลขที่ 1075 เลขที่ 6131 และเลขที่ 10477 ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ของจำเลยที่ 6 เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง กับให้โจทก์บังคับคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5254 ถึงเลขที่ 5259 เลขที่ 1075 เลขที่ 6131 และเลขที่ 10477 ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 4,623,532 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 5 และที่ 6 และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 6 จำนวน 9 แปลง เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 6 จึงมายื่นคำร้องฉบับซึ่งมีเนื้อหาในทำนองขอให้ถอนการบังคับคดี
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 6 ว่า กรณีมีเหตุตามกฎหมายที่จะถอนการบังคับคดีให้แก่จำเลยที่ 6 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 4,623,532 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเมื่อโจทก์ดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 6 เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ การร้องขอให้ถอนการบังคับคดีจึงต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 6 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นทำนองขอให้ศาลชั้นต้นถอนการบังคับคดีนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 ได้อ้างเหตุตามมาตรา 295 แต่อย่างใด จำเลยที่ 6 จึงไม่อาจร้องขอให้ถอนการบังคับคดีได้ ส่วนที่จำเลยที่ 6 อ้างมาในคำร้องและในฎีกาว่า ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์กับจำเลยที่ 6 ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ และจำเลยที่ 6 ได้ชำระหนี้ตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจมาบังคับคดีแก่จำเลยที่ 6 ได้อีกนั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ทำขึ้นนอกศาลโดยศาลมิได้รับรู้ด้วย โจทก์เองก็ยื่นคำคัดค้านว่า บันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ทนายโจทก์คนเดิมทำขึ้นโดยไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์และทนายมีพฤติการณ์ร่วมมือกับฝ่ายจำเลยฉ้อฉลโจทก์ กรณีจึงไม่ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างได้ ส่วนบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ หากสามารถบังคับกันได้ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 6 จะต้องว่ากล่าวแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share