แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินที่โจทก์ได้รับจาก อ. เป็นค่าตอบแทนส่วนหนึ่งในการโอนกิจการซื้อขายที่ดินรวมทั้งหนี้สินและทรัพย์สินตามสัญญาจ่ายเงิน 2 ฉบับ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา40(8)
โจทก์ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินแล้ว แต่เสียภาษีไม่ถูกต้อง และยื่นรายการไม่ครบ โดยไม่ได้นำเงินเดือนที่ได้รับปีละ 6,000 บาท เข้าไปด้วย ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องปกปิดรายได้ของตนเพื่อหลีกเลี่ยงให้เสียภาษีน้อยลง จึงไม่สมควรลดเงินเพิ่มให้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ประจำปีภาษี2510, 2511, 2514 และ 2515 ที่พิพาทกันในคดีนี้เสีย ตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เกี่ยวกับการประเมิณภาษีครั้งนี้ด้วย โดยโจทก์ที่ 2 คงเสียภาษีประจำปี 2510 เป็นเงิน 440,795.39 บาท ประจำปี 2511 เป็นเงิน133,395.16 บาท ส่วนโจทก์ที่ 1 คงต้องชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2514 เป็นเงิน 519,701.14 บาท และภาษีประจำปี 2515 เป็นเงิน 921,902.06 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้โจทก์ที่ 2 เสียภาษีเงินได้ประจำปี 2510เป็นเงิน 826,491.36 บาท ประจำปี 2511 เป็นเงิน 250,115.94 บาท โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่ 1 โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เงินที่โจทก์ที่ 2 ได้รับจากนางอรลา ธัญญะกิจ มาในปี พ.ศ. 2510 จำนวน 1,375,100 บาท และในปี พ.ศ. 2511 จำนวน 640,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,015,100 บาท เป็นเงินค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินที่ตำบลทุ่งสองห้อง ที่โจทก์รับมาเพื่อจ่ายแทนนางอรลาทั้งสิ้น มิใช่เป็นเงินค่าตอบแทนในการโอนกิจการจัดสรรที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาจ่ายเงินฉบับแรกลงวันที่ 28 มิถุนายน 2510 ที่นางอรลาจะเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ขายกับกรรมการขนส่งทหารบกโดยจะจ่ายเงินส่วนแบ่งให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 27 ล้านบาทโดยจ่ายในปี พ.ศ. 2510 เป็นเงิน 1 ล้านบาท และจ่ายในปี 2511 เป็นเงินอีก1 ล้านบาท ส่วนอีก 25 ล้านจะจ่ายในปี พ.ศ. 2512 ถึง 2516 นั้น ได้ทำขึ้นก่อนที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับเงินจากนางอรลาจำนวน 1,375,100 บาท ซึ่งเริ่มรับมาตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2510 และจำนวน 640,000 บาท ซึ่งเริ่มรับมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2511 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 และข้อความตอนต้น ของเอกสารหมาย จ.18 ก็ระบุไว้ชัดว่า การที่โจทก์ที่ 2 รับเงิน 2 จำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงิน 2 จำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงิน 2,015,000 บาทนั้นก็เนื่องมาจากตามสัญญาการแบ่งเงินกรรมการขนส่ง นอกจากนั้นหลังจากทำสัญญาจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2511 โจทก์ที่ 2 ยังได้ฟ้องนางอรลาต่อศาลแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5867/2511 โดยบรรยายฟ้องว่าเมื่อโจทก์ที่ 2 และนางอรลาได้ทำสัญญาจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้วนางอรลาได้จ่ายเงินให้โจทก์ที่ 2 ตลอดมาหลายคราวเป็นเงิน 2,015,100 บาทบัดนี้ล่วงเวลาที่นางอรลาจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาจ่ายเงินลงวันที่ 28 มิถุนายน 2510 ข้อ 3(2) ซึ่งกำหนดชำระเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2511 และสิ้นเดือนสิงหาคม 2511รวม 2 งวดคิดเป็นเงิน 666,666.66 บาท แต่เนื่องจากโจทก์รับเงินจากจำเลยตามสัญญาเกินมาก่อนสิ้นเดือนเมษายนเป็นเงิน 15,100 บาท ฉะนั้นเมื่อหักเงินจำนวนดังกล่าวออกแล้ว จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 651,566.66 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาและบังคับให้นางอรลาใช้เงินจำนวน 651,566.66 บาทแก่โจกท์ที่ 2 ที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเช่นนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า เงินที่โจทก์ที่ 2 รับมา 2,015,100 บาทนั้น โจทก์ที่ 2 ได้เอาไปชำระตามสัญญาจ่ายเงิน ลงวันที่14 กันยายน 2510 งวดแรกเสีย 1,000,000 บาท และเอาไปชำระตามสัญญาจ่ายเงินลงวันที่ 28 มิถุนายน 2510 งวดแรกเสีย 1,000,000 บาท และชำระเกินมา 15,100 บาท ที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกเงินจากนางอรลาตามคดีแพ่งดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ่ายเงินลงวันที่ 28 มิถุนายน 2510 ข้อ 3(2)ที่ค้างอยู่ 2 งวด ๆ ละ 333,333.33 บาท เป็นเงิน 666,666.66 บาท และโจทก์ที่ 2 ยังยอมหักเงินที่รับเกินมา 15,100 บาทออกให้อีกด้วยคงเรียกร้องเพียง651,566.66 บาท อันเป็นการยืนยันว่าเงินที่โจทก์ที่ 2 รับมาจากนางอรลา ตามเอกสารหมาย จ.18 เป็นเงิน 2,015,100 บาท นั้นเป็นเงินค่าตอบแทนงวดแรกงวดละ 1,000,000 บาทตามสัญญาจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับ และรับเกินมา 15,100 บาท ที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่าที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องนางอรลาตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5867/2511 ดังกล่าวนางอรลาได้ให้การและเบิกความได้อีกว่า เงินที่โจทก์ที่ 2 รับมาจากนางอรลาจำนวน 2,015,100 บาทนั้นเป็นเงินค่าวางมัดจำที่ดินและค่าใช้จ่ายในการจัดสรรที่ดินที่ทุ่งสองห้องนั้นก็เป็นเพียงข้อต่อสู้เพื่อประโยชน์ของนางอรลาในคดีนั้น โจทก์ที่ 2 จะยกเอาข้อต่อสู้และคำเบิกความดังกล่าวอันขัดกับข้ออ้างของตนในคดีนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนในคดีนี้หาได้ไม่และไม่ปรากฏว่าเงินจำนวน 2,015,100 บาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินค่ามัดจำที่ดินและค่าใช้จ่ายนั้น เป็นค่ามัดจำที่ดินรายไหน ค่าใช้จ่ายอะไรเป็นแต่เพียงกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ นอกจากนั้นเมื่อโจทก์ที่ 1 ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจภาษีของกรมจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าโจทก์ที่ 2 มีเงินได้ค่าตอบแทนจากการโอนขายกิจการที่ดินที่ได้รับจากนางอรลาในปี พ.ศ. 2510เป็นเงิน 1,375,100 บาท และในปี พ.ศ. 2511 เป็นเงิน 640,000 บาท ตามสัญญาจ่ายเงินลงวันที่ 28 มิถุนายน 2510 และลงวันที่ 14 กันยายน 2510 แต่นางอรลาผิดสัญญา ต่อมาโจทก์ที่ 2 จึงได้ฟ้องนางอรลาต่อศาลแพ่งให้บังคับให้นางอรลาจ่ายเงินตามสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.8 ส่วนโจทก์ที่ 2 ให้การว่า ตามสัญญาจ่ายเงินทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว นางอรลาได้จ่ายเงินส่วนแบ่งให้ตามสัญญาในปี พ.ศ. 2510 และ 2511 เป็นเงิน2,015,100 บาท ต่อมานางอรลาผิดสัญญาไม่จ่ายเงินให้อีก โจทก์ที่ 2 จึงได้ฟ้องนางอรลาต่อศาลแพ่งให้ชำระเงินตามสัญญาดังกล่าว ตามเอกสารหมายล.9 และในชั้นพิจารณานี้ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ก็ยังเบิกความยืนยันเช่นนั้นโดยโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า สัญญาที่นางอรลาทำกับโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมายจ.1 และ จ.3 เป็นสัญญารับโอนกิจการที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ร่วมกันทำมาก่อนหน้านั้นและนางอรลาตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา และในการที่นางอรลาไปดำเนินการต่อนั้น การขาดทุนกำไรเป็นเรื่องของนางอรลาเอง ส่วนโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ทำขึ้นก็เพราะนางอรลาต้องการจะดำเนินการจัดสรรที่ดินแต่ผู้เดียว และให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย โดยโจทก์ที่ 2 เป็นเพียงทำตามคำสั่งของนางอรลาเท่านั้น การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องนางอรลาเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5867/2511 นั้นเป็นการฟ้องเรียกร้องเงินกำไรและค่าตอบแทนตามสัญญาหมาย จ.1 และ จ.3 ข้ออ้างของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เงินจำนวน 2,015,100 บาท ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาจากนางอรลาในปี พ.ศ. 2510และ 2511 นั้น เป็นเงินค่าตอบแทนส่วนหนึ่งในการโอนกิจการซื้อขายที่ดินรวมทั้งหนี้สินและทรัพย์สินตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)” ฯลฯ
“ข้อ 4 โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 2 มิได้ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินสำหรับปี พ.ศ. 2510 และ 2511 ซึ่งอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจำนวนภาษีอาการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 26 แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์ทั้งสองไปทำการไต่สวน โจทก์ทั้งสองก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดี สมควรปราณีให้ลดเงินเพิ่มลงมา ที่ศาลอุทธรณ์ให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรให้เรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้นเพียง 1 เท่าจำนวนภาษีอากร คงให้โจทก์ที่ 2 เสียภาษีเงินได้รวมเงินเพิ่ม 1 เท่า สำหรับภาษีประจำปี พ.ศ. 2510 เป็นเงิน 550,994.24 บาท ประจำปี พ.ศ. 2511 เป็นเงิน 166,743.96 บาท สำหรับโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินสำหรับปี พ.ศ. 2514 และ 2515 แล้ว แต่เสียภาษีไม่ถูกต้องและยื่นรายการไม่ครบโดยไม่ได้นำเงินเดือนที่ได้รับปีละ 6,000 บาทเข้าไปด้วย ซึ่งอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 เท่าเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้เรียกเพิ่มร้อยละ 20 นั้น เห็นว่าตามพฤติการณ์โจทก์ที่ 1 ได้ปกปิดรายได้ของตนเพื่อหลีกเลี่ยงให้เสียภาษีน้อยลง ไม่สมควรลดเงินเพิ่มให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ที่ 2 เสียภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2510 เป็นเงิน 550,994.24 บาท ประจำปี พ.ศ. 2511 เป็นเงิน 166,743.96 บาท นอกจากที่แก้ให้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ต่างเป็นพับ”