แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคสาม ขยายความมาตรา 69 วรรคสอง เฉพาะความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ซึ่งเป็นมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีนที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม มิได้ขยายความมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ด้วย
จำเลยมีฝิ่นดิบหนัก 0.2 กรัม และมูลฝิ่นหนัก 0.94 กรัมไว้ในครอบครอง จึงต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง
ศาลล่างวางโทษจำเลยตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528 ซึ่งเป้นบทแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสามและวรรคสี่ด้วยนั้นไม่ถูก ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็นไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ.2528 มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีฝิ่นดิบหนัก 0.2 กรัม มูลฝิ่นหนัก0.94 กรัม และสายชนวนฝักแคซึ่งเป็นวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 17, 69, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 6, 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 38, 74 ฯ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 17, 69, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 6, 10 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 38, 74 ฯ ฐานมีฝิ่นดิบและมูลฝิ่นไว้ในครอบครอง ให้จำคุก 6 เดือน ฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปีรวมจำคุก 1 ปี 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะข้อหามีฝิ่นดิบและมูลฝิ่นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 69 บัญญัติหลักการของการกระทำความผิดไว้ 2 ประการประการแรก วางโทษผู้มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองในวรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ประการที่สองวางโทษผู้จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ในวรรคสองมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จึงเห็นได้ชัดว่าอัตราโทษการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายจะสูงกว่าอัตราโทษการมีไว้ในครอบครอง เพราะการมีไว้ในครอบครองเป็นภัยเฉพาะตัวของผู้มีไว้ในครอบครองเท่านั้น แต่การจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นภัยต่อสังคมเป็นอย่างมาก ถือเป็นการกระทำที่ร้ายแรง กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ที่จะวางโทษผู้จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายหนักกว่าผู้มีไว้ในครอบครอง ฉะนั้นถ้าจะแปลความว่ามาตรา 69 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ.2528 มีความหมายคลุมไปถึงวรรคหนึ่งด้วยแล้ว การมีมอร์ฟีนหรือโคคาอีนหรือฝิ่นไว้ในครอบครองกับการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษดังกล่าวจะมีอัตราโทษเท่ากัน ซึ่งไม่น่าเป็นเช่นนี้ เพราะผิดจากหลักการข้างต้น อีกประการหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราโทษของผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ เฮโรอีนตามมาตรา 67 ซึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นว่าอัตราโทษของผู้มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองต่ำกว่าอัตราโทษของผู้มีมอร์ฟีนโคคาอีนและฝิ่นไว้ในครอบครอง ซึ่งน่าจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะการกำหนดอัตราโทษน่าจะลดหลั่นกันลงมาตามความร้ายแรงของชนิดและประเภทของยาเสพติดให้โทษกล่าวคือ ในการกระทำความผิดอย่างเดียวกันอัตราโทษสำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 น่าจะสูงกว่ายาเสพติดให้โทษประเภทอื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว เห็นว่าข้อความในมาตรา 69 วรรคสามขยายความในวรรคสอง คือหมายความเฉพาะความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมอร์ฟีนโคคาอีนและฝิ่นซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมเท่านั้น จำเลยมีฝิ่นดิบหนัก 0.2 กรัม กับมูลฝิ่นหนัก 0.94กรัมไว้ในครอบครอง จึงต้องวางอัตราโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย อย่างไรก็ตามการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซี่งให้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528 มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69วรรคสาม และวรรคสี่นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528มาตรา 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.